ตามปกติแล้ว ทารกที่กำลังจะคลอด มักจะเอาส่วนหัวนำออกมาก่อน แต่อาจมีทารกบางคนเอาส่วนก้นนำ หรือที่ทางการแพทย์เรียกกันว่า ทารกท่าก้น ซึ่งถือว่าเป็นท่าคลอดที่ไม่ปกติ และเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายทั้งกับแม่และลูก โดยสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่กลับหัว จะมีอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลยค่ะ

ลูกไม่กลับหัว อันตรายอย่างไร

คุณแม่จะไม่มีทางรู้เลยว่าทารกที่อยู่ในครรภ์กลับหัวแล้วหรือยังจนกระทั่งได้รับการตรวจจากสูติแพทย์ ด้วยวิธีอัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์ แต่ในระหว่างที่จะคลอดหรือใกล้คลอดอาจมีสัญญาณเตือนบางอย่างเกิดขึ้น เช่น เห็นก้น ขา หรือเท้าคลอดออกมาก่อน หรือคุณแม่รู้สึกว่ามีอะไรแข็งอยู่ใต้ซี่โครง การที่ถุงน้ำคร่ำแตกพร้อมกับมีขี้เทาหนาๆออกมาด้วย สายสะดือหย่อนคล้อย และการเต้นของหัวใจผิดปกติ ซึ่งอาการเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกว่าลูกไม่กลับหัว

สำหรับอันตรายที่เกิดจากการไม่กลับหัวนั้น สามารถทำให้ทารกเสียชีวิตขณะคลอดได้ เนื่องมาจากว่า การคลอดที่อยู่ในท่าหัวนำ จะช่วยขยายช่องปากมดลูกให้กว้างขึ้น ทำให้การคลอดส่วนอื่นๆ ตามมาได้สะดวกขึ้น แต่การคลอดท่าก้นนำ โดยส่วนก้นและขาออกมาก่อนนั้น ไม่สามารถขยายปากมดลูกได้ ทำให้การคลอดส่วนหัวเป็นไปอย่างยากลำบาก และมีโอกาสที่หัวจะติดคาที่ปากมดลูกจนทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ลูกไม่กลับหัว อาจทำให้เกิดสายสะดือไหลย้อยสู่ช่องคลอด ส่งผลให้สายสะดือบางส่วนถูกกดทับ ไม่สามารถส่งอาหารและออกซิเจนไปยังลูกได้ จนทำให้ลูกเสียชีวิตในที่สุด

ปัจจัยที่มีผลทำให้ทารกไม่กลับหัว

สาเหตุที่ทำให้ลูกไม่กลับหัว อาจยังไม่แน่ชัด แต่อาจเกิดได้จากหลายปัจจัยดังต่อไปนี้

1.การคลอดก่อนกำหนด

คุณแม่ที่คลอดก่อนกำหนดในขณะที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ มีโอกาสที่จะคลอดในท่าก้น 22% ถ้ามีอายุครรภ์มากขึ้นตั้งแต่ 32 สัปดาห์ขึ้นไป โอกาสจะลดลงเหลือ7%  และเมื่อคลอดตามกำหนด จะพบการคลอดท่าก้นเหลือเพียง 1-3%

2.การตั้งครรภ์แฝด

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดจะมีขนาดของโพรงมดลูกใหญ่กว่าคุณแม่ครรภ์ปกติ ทำให้ทารกน้อยในครรภ์เคลื่อนไหวตัวไปมาอยู่ตลอดเวลา จนเมื่อใกล้คลอด ก็มีโอกาสที่ลูกน้อยจะอยู่ในท่าก้นมากกว่า

3.คุณแม่ที่ท้องและคลอดหลายครั้ง

เมื่อกล้ามเนื้อมดลูกที่เคยยืดหยุ่นดี กลับหย่อนคล้ายไม่กระชับเหมือนเดิม ทำให้ลูกน้อยเคลื่อนไหวไปมา ไม่อยู่ในท่าทางที่ปกติ และมีความเป็นไปได้ที่ลูกไม่กลับหัวสูงมาก

4.ความผิดปกติของมดลูกและรก

การมีเนื้องอกขึ้นที่มดลูก มีผลทำให้โพรงมดลูกผิดปกติ ดังนั้นทารกในครรภ์จึงต้องปรับเปลี่ยนท่าทางเมื่ออยู่ในมดลูกที่ผิดปกติ ด้วยวิธีการเอาก้นลง รวมทั้งคุณแม่ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ ก็ส่งผลทำให้ลูกไม่สามารถกลับหัวลงได้

5.ปริมาณน้ำคร่ำมากหรือน้อยเกินไป

ปริมาณน้ำคร่ำมีผลต่อการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ โดยน้ำคร่ำมากเกินไปส่งผลให้ลูกเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ส่วนถ้าน้ำคร่ำน้อยเกินไป ก็มีผลทำให้ลูกไม่สามารถหมุนตัวได้

Sponsored

6.ความพิการของทารกในครรภ์

ทารกที่มีความพิการ เช่น ไม่มีกะโหลก หัวโตเกินไป หรือมีเนื้องอกบริเวณส่วนบนหรือส่วนล่างของทารก ก็ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว ทำให้ไม่สามารถหมุนตัวให้อยู่ในท่าเอาหัวลงได้

ทารกท่าก้น ต้องคลอดด้วยวิธีไหน

ทารกที่อยู่ในท่าก้นนั้น สามารถคลอดด้วยวิธีคลอดตามธรรมชาติผ่านช่องคลอดได้ แต่มีโอกาสเกิดอันตรายกับทารกได้มากกว่าการผ่าตัดคลอด ซึ่งการทำคลอดทางช่องคลอดนั้น มี 3 วิธี ดังนี้

1. ทารกคลอดได้เอง โดยแพทย์ไม่ต้องช่วย ซึ่งวิธีนี้ใช้กับทารกที่มีขนาดตัวเล็ก

2. แพทย์ช่วยทำคลอดบางส่วน

3. แพทย์ทำคลอดเองทั้งหมด โดยแพทย์จะใช้วิธีนี้เมื่อต้องคลอดฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์จะล้วงจับส่วนขาแล้วค่อยดึงทารกออกมา

โดยในปัจจุบันการทำคลอดผ่านช่องคลอดสำหรับทารกที่อยู่ในท่าก้นนั้น ไม่ได้รับความนิยม เพราะค่อนข้างอันตราย ดังนั้นแพทย์จะพยายามให้คลอดทารกในท่าศีรษะมากกว่า ซึ่งแพทย์จะใช้วิธีการหมุนเปลี่ยนท่าทารกที่อยู่ในท่าก้นให้อยู่ในท่าศีรษะแทน วิธีนี้จะกระทำได้ต่อเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ที่ 36 สัปดาห์สำหรับการตั้งครรภ์ครั้งแรก แต่สำหรับคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาแล้ว ควรมีอายุครรภ์ที่ 37 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์จะใช้เวลาในการทำเพียงแค่ 15 นาที พร้อมกับคอยดูความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น สำหรับการหมุนเปลี่ยนท่าทารกจากภายนอกนี้นั้น เป็นวิธีที่ได้ผลและปลอดภัย ช่วยให้คุณแม่มีโอกาสคลอดลูกได้เองตามธรรมชาติ หรือสามารถคลอดทารกในท่าศีรษะได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการหมุนเปลี่ยนท่าของทารกก็มีความเสี่ยง แพทย์จึงอาจไม่แนะนำให้ทำสำหรับคุณแม่บางคนที่มีภาวะผิดปกติ เช่น รกเกาะต่ำ ทารกในครรภ์ผิดปกติ ครรภ์แฝด เป็นต้น

ส่วนวิธีการทำคลอดที่แพทย์ส่วนใหญ่นิยมใช้กับกรณีลูกไม่กลับหัว คือการทำคลอดด้วยวิธีการผ่าตัดคลอด ซึ่งมีความปลอดภัยกับทารกมากกว่า และแพทย์จะทำการผ่าตัดคลอดตามอายุครรภ์เมื่อถึงกำหนด

สำหรับคุณแม่ที่ลูกไม่กลับหัว เคยคลอดบุตรในท่าก้นมาแล้ว มีโอกาสที่จะคลอดลูกคนที่สอง ในท่าก้นนี้อีก ดังนั้นการฝากครรภ์ หรือการไปตรวจร่างกายตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ส่วนถ้าพบว่าในครรภ์นี้ทารกยังอยู่ในท่าก้นอีก ก็ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยว่าจะหมุนเปลี่ยนท่าให้ทารกอยู่ในท่าศีรษะ หรือจะผ่าตัดคลอดแทนดีกว่า

= = = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

https://www.facebook.com/teamkonthong/

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

1.ไขข้อข้องใจ การคลอดลูกเอง จะคลอดตรงกำหนดไหม

2.รองผกก. โวยลั่น รพ.ทำหลานแรกคลอดขาหัก หมอออกมายอมรับแล้ว