เชื้อไวรัส RSV มักจะเกิดกับเด็กได้ง่ายโดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยเด็กเล็กต้องเพิ่มความระมัดระวังในการป้องกันไม่ให้ลูกได้รับเชื้อ RSV เพราะเมื่อเจ็บป่วยแล้วจะทำให้เกิดความรุนแรงค่อนข้างสูง การรักษาก็ทำได้ยาก เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาโรคโดยตรง วันนี้เรามาทำความรู้จักโรคไวรัส RSV ว่ามีอาการอย่างไรบ้าง

โรค RSV คืออะไร

โรค RSV คือการติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อผ่านทางเดินหายใจ โดยสามารถเกิดได้ทุกวัย แต่การติดเชื้อในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปีอาจจะทำให้มีความรุนแรงได้สูงกว่าวัยอื่น ประกอบกับเด็กยังขาดการระมัดระวังในการป้องกันละอองน้ำมูก น้ำลายการไอ จาม ของผู้ที่มีเชื้อชนิดนี้อยู่ เมื่อเด็กได้สัมผัส หรือรับเชื้อจะมีระยะของการฟักตัวของโรคอยู่ประมาณ 4-5 วันจึงจะแสดงอาการ

ลูกมีไข้ หายใจแรงเป็นโรค RSV ไหม

เมื่อเด็กได้รับเชื้อไวรัส RSV เข้าสู่ร่างกายจะทำให้มีอาการที่เกิดขึ้นได้ดังนี้

  • ช่วง 2-4 วันแรก เด็กจะมีอาการเป็นไข้คล้ายไข้หวัดธรรมดา โดยมีอาการมีไข้ตัวร้อน มีอาการไอ จาม และน้ำมูกไหล
  • เมื่ออาการของโรคดำเนินไปมากแล้ว จะทำให้เด็กมีอาการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ทำให้หลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ รวมถึงมีอาการของปอดอักเสบ และปอดบวมตามมาได้
  • ในเด็กบางรายอาจจะมีอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูงมาก ไอรุนแรง เสมหะมีสีเทา สีเขียว หรือสีเหลืองได้ เวลาหายใจจะมีเสียงดังครืดคราดในลำคอ เนื่องจากมีเสมหะข้นเหนียวมาก ในบางรายอาจจะมีปลายนิ้วและปากมีสีเขียวคล้ำ เนื่องจากการขาดออกซิเจน หากเด็กมีอาการเหล่านี้ควรพาไปโรงพยาบาลโดยด่วนเพื่อจะได้รักษาได้ทันเวลา

การดูแลรักษาลูกเป็น RSV

เมื่อลูกเจ็บป่วยด้วยการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ พ่อคุณแม่จำเป็นต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ด้วยวิธีการดังนี้

1. เพิ่มความชื้นในอากาศเพื่อให้ระบบทางเดินหายใจที่ดีขึ้น ทั้งนี้ค่าความชื้นในอากาศไม่ควรมากเกินร้อยละ 50 เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา

2. ให้ลูกนั่งหรือนอนในตำแหน่งที่หายใจได้สะดวกโดยการให้ลูกนั่งตัวตรงไม่ห่อตัว อาจจะใช้หมอนที่ไม่นุ่มหรือแข็งเกินไปมาดันข้างหลังได้

3. ควรให้ลูกดื่มน้ำมากๆ เพราะจะช่วยให้เสมหะ หรือน้ำมูกไม่เหนียวข้นจนเกินไป อีกทั้งยังทำให้ระบบทางเดินหายใจทำงานสะดวกขึ้น

4. การใช้ยาหยอดจมูกเด็กเล็ก เพื่อช่วยลดอาการบวมของจมูก หรืออาจล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อดูดน้ำมูก จะทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น

5. ในเด็กที่เป็นไข้ควรกินยาเพื่อลดไข้ในกลุ่มอะเซตามิโนเฟน สำหรับเด็กที่มีอาการรุนแรง หลังจากไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ และได้รับการรักษาแล้ว ให้คุณแม่ใช้วิธีดูแลตามคำนะของแพทย์โดย

  • ให้กินยาปฏิชีวนะสำหรับเด็กที่มีอาการแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย โดยเฉพาะคนที่มีอาการปอดบวม
  • ใช้ยาพ่นขยายหลอดลมสำหรับเด็กที่มีอาการหายใจมีเสียงวี๊ดๆ จะช่วยบรรเทาให้หายใจได้คล่องขึ้น นอกจากนี้ให้ดูดเสมหะข้นเหนียวออกด้วย เพื่อลดการปิดกั้นทางเดินหายใจ  จะทำให้เด็กหายใจได้โล่งขึ้น
  • สำหรับเด็กที่มีอาการรุนแรง ที่อยู่ในภาวะออกซิเจนต่ำ ซึ่งเสี่ยงต่อระบบหายใจล้มเหลว แพทย์อาจให้ออกซิเจนหรือใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจ

โรคนี้มีวัคซีนป้องกันไหม

สำหรับวัคซีนป้องกันไวรัส RSV ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีการผลิตวัคซีนออกมาใช้ แพทย์จะใช้วิธีการรักษาตามอาการของโรค หากมีการไอเนื่องจากมีเสมหะเหนียวมาก แพทย์อาจจะให้พ่นยาเพื่อขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย รวมถึงการเคาะปอดและดูดเสมหะ จะช่วยบรรเทาอาการป่วยลงได้ โดยระยะเวลาของการฟื้นไข้ประมาณ 7 ถึง 14 วัน ซึ่งไวรัสชนิดนี้สามารถทำให้เกิดอาการป่วยได้ตั้งแต่ระดับไข้หวัดธรรมดา จนถึงขั้นร้ายแรงเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

ป้องกันลูกน้อยจาก RSV ได้อย่างไร

การป้องกันโรคสามารถทำได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

1.หมั่นล้างมือบ่อยๆ

โดยล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งโดยเฉพาะก่อนกินอาหาร หลังจากเข้าห้องน้ำ รวมถึงทุกครั้งที่จับลูกบิดประตู ราวบันได หรือการหยิบจับสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน

2.หลีกเลี่ยงการคลุกคลี หรือสัมผัสผู้ป่วย

หากมีเด็กป่วย ควรแยกพักในห้องต่างหาก ไม่นอนรวมกับคนอื่นที่ไม่ได้ป่วยเพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคและไม่ควรละเลยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย ตลอดจนการออกนอกบ้านไปในชุมนุมชน

Sponsored

3.ทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ

ของเล่นของเด็กควรมีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยกำจัดเชื้อโรค

4.หลีกเลี่ยงควันบุหรี่

ควันบุหรี่เป็นตัวการหนึ่งที่จะเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัส RSV ในเด็กมากขึ้น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงลูกน้อยจากควันบุหรี่ให้ได้มากที่สุด

5.รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ

เด็กที่กินนมจากขวด ควรระมัดระวังความสะอาด โดยการนึ่งฆ่าเชื้อขวดนมทุกครั้งก่อนนำมาชงนมให้เด็ก หากเป็นเด็กโตควรให้ดื่มน้ำบ่อยๆ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ

6.เด็กที่เข้าโรงเรียนแล้วหากมีอาการป่วยควรหยุดเรียน

หากลูกป่วยควรให้หยุดเรียนก่อนเพื่อจะได้รักษาตัวเองจนกว่าจะหายเป็นปกติ และป้องกันการติดเชื้อโรคชนิดอื่นแทรกซ้อนขณะที่ร่างกายอ่อนแอ อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่นอีกด้วย

ถึงแม้ว่าโรคไวรัส RSV จะมีความรุนแรง และติดต่อกันได้ง่ายก็ตามแต่การดูแลลูกน้อยด้วยมาตรการป้องกันอย่างถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชน ก็สามารถป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อได้ ส่วนเด็กที่ป่วยด้วยไข้หวัดธรรมดา หากคุณพ่อคุณแม่เฝ้าสังเกตประเมินอาการได้ และมีแนวโน้มที่น่าสงสัยว่าจะติดเชื้อ RSV ควรไปโรงพยาบาลทันที

= = = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

https://www.facebook.com/teamkonthong/

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

1.10 อาหารวิตามินอี คนท้องควรกิน เพื่อสุขภาพครรภ์ที่ดี

2.อาหารที่คนท้องควรกิน และไม่ควรกิน สำหรับคนท้องกรุ๊ปเลือด B