แม่รู้ไหม กระหม่อมทารก สำคัญมาก ซึ่งในวัยแรกเกิดจะเห็นได้ว่ากระหม่อมของลูกนั้นยังมีลักษณะเป็นแอ่งนุ่มๆ นั่นก็เพราะกระหม่อมลูกยังไม่ปิดสนิทนั่นเอง และช่วงนี้แหละที่แม่จะต้องให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะหากกระหม่อมของลูกมีลักษณะผิดแปลกไป เช่น โป่งหรือบุ๋มลงไป เอาเป็นว่าเรามาทำความเข้าใจกับกระหม่อมของทารกกันเลยดีกว่า
กระหม่อมทารก สำคัญแค่ไหน
กระหม่อมของลูกน้อยวัยแรกเกิด เป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่จะต้องให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษ เพราะวัยนี้ กระหม่อมจะยังเป็นเพียงเนื้อเยื่อบางๆ เท่านั้น จึงมีโอกาสที่จะเกิดอันตรายจากการถูกกระแทก และการสัมผัสกับความร้อนความเย็นได้สูง อีกทั้งลักษณะกระหม่อมของลูกยังสามารถบอกได้ถึงอาการเจ็บป่วย และภาวะผิดปกติในร่างกายได้อีกด้วย ดังนั้นคุณแม่จึงควรดูแลและสังเกตกระหม่อมของลูกตลอดเวลา เพื่อจะได้รับมือกับความผิดปกติได้ทันนั่นเอง
กระหม่อมของลูก จะปิดสนิทเมื่อไหร่
อย่างที่รู้กันดีกว่า เมื่อผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง กระหม่อมทารกจะปิดสนิท เปลี่ยนจากเนื้อเยื่อบางๆ เป็นกระดูกแข็ง ซึ่งอันดับแรกต้องบอกก่อนเลยว่า กระหม่อมของคนเราจะมีอยู่ 2 จุดด้วยกัน คือกระหม่อมหน้าโดยจะอยู่บริเวณกลางศีรษะ จะเริ่มปิดตั้งแต่ลูกมีอายุ 6 เดือน และปิดสนิทเมื่อลูกมีอายุประมาณ 12-18 เดือน และกระหม่อมหลัง จะมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม โดยในเด็กบางคนอาจปิดตั้งแต่แรกเกิด หรือปิดสนิทในช่วงอายุประมาณ 6-8 เดือนนั่นเอง ดังนั้นในช่วงที่กระหม่อมของลูกยังปิดไม่สนิทนี้ คุณแม่ก็จะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากเลยล่ะ
ควรดูแลกระหม่อมของลูกอย่างไร
สำหรับการดูแลกระหม่อมลูกวัยแรกเกิดหรือในระหว่างที่กระหม่อมยังปิดไม่สนิท ก็ไม่ยากเลย แค่ระมัดระวังอย่าให้เกิดการกระแทกที่อาจจะเป็นอันตรายได้เท่านั้น และควรใส่หมวกให้กับลูกน้อยอยู่เสมอ เพื่อป้องกันอากาศที่ร้อนหรือเย็นจนเกินไปนั่นเอง นอกจากนี้คุณแม่ควรสัมผัสเพื่อตรวจกระหม่อมลูกบ่อยๆ โดยใช้มือลูบสัมผัสเบาๆ เพื่อดูว่ากระหม่อมลูกบุ๋มหรือโป่งมากเกินไปหรือเปล่า เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณที่บอกได้ถึงความผิดปกติของลูก
กระหม่อมลูกโป่ง หรือบุ๋มเกินไป บอกอะไรได้บ้าง
เมื่อกระหม่อมลูกน้อยโป่งหรือบุ๋มจนเกินไป แม่รู้ไหมว่านั่นเป็นสัญญาณความผิดปกติที่จะมองข้ามไม่ได้เลยทีเดียว ว่าแต่กระหม่อมแบบไหนบอกถึงความผิดปกติอย่างไรบ้าง ลองไปดูกันเลย
1.กระหม่อมโป่งตึง
การที่กระหม่อมของลูกโป่งตึงขึ้นมานั้น อาจเกิดได้จากการที่ลูกร้องไห้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คลำไม่พบจังหวะการเต้นของชีพจร ลูกตัวร้อน ซึม ไม่ค่อยดื่มนมหรือทานอาหาร มักจะอาเจียนออกมาจนหมด แบบนี้ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ในทันที เพราะลูกอาจเกิดความผิดปกติในสมอง ซึ่งเป็นอันตรายได้
2.กระหม่อมบุ๋มหรือยุบลงไป
หากพบว่ากระหม่อมของลูกมีลักษณะบุ๋มหรือยุบลงไปผิดปกติ อย่าชะล่าใจเด็ดขาด เพราะนั่นก็แสดงได้ถึงความผิดปกติเช่นกัน โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่ลูกขาดน้ำ ซึ่งมักจะมีอาการซึม ดวงตาโหลลึก ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ และไม่ยิ้มไม่ร่าเริงร่วมด้วย ทั้งนี้หากปล่อยไว้ไม่รีบทำการรักษา ก็จะเป็นอันตรายมากเลยทีเดียว ดังนั้นอย่าลืมสัมผัสกระหม่อมของลูกทุกวันเพื่อตรวจเช็คความผิดปกติเด็ดขาด
3.กระหม่อมปิดช้า
จริงอยู่ที่กระหม่อมของเด็กแต่ละคนอาจปิดไม่พร้อมกัน บางคนปิดช้าบางคนปิดเร็ว แต่หากปิดช้ามากเกินไป ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคได้เหมือนกันนะ ซึ่งพบว่าการที่กระหม่อมทารกปิดช้านั้น อาจเกิดจากอาการป่วยของโรคกระดูกบางชนิด และโรคระบบต่อมไร้ท่อได้ ดังนั้นหากพบความผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์เลยจะดีกว่า
ทีนี้ก็พอจะเข้าใจเกี่ยวกับกระหม่อมของเด็กทารกกันบ้างแล้วใช่ไหมเอ่ย ดังนั้นอย่าปล่อยปละละเลยโดยคิดว่ากระหม่อมของลูกไม่สำคัญเป็นอันขาด โดยเฉพาะช่วงเวลาที่กระหม่อมยังปิดไม่สนิท ซึ่งคุณแม่ควรดูแลใส่ใจ และหมั่นสังเกตถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นเสมอ
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..