เลี้ยงลูกน้อยขวบปีแรก แม่ ๆ ขามีเรื่องราวดี ๆ ค่ะ เพราะจากที่ได้คุยกับคุณแม่มือใหม่หลายคน จนทำให้ได้ข้อมูลดี ๆ สำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกขวบปีแรกมาฝาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเล็ก ๆ เรื่องง่าย ๆ เรื่องที่เราอาจจะมองข้ามกันไป ทีมคนท้องก็เลยรวบรวมมาบอกค่ะ
เลี้ยงลูกน้อยขวบปีแรก กับ 7 สิ่งที่คุณแม่มือใหม่มักทำพลาด ดังนี้
1.คุณแม่ตื่นตูม!! มักทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ๆ
เชื่อว้าคุณแม่มือใหม่หลายคนก็คงเป็นเหมือนกัน เพราะเราไม่มีประสบการณ์มาก่อน ลูกก็ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นพอลูกน้อยวัยขวบปีแรกเป็นอะไรขึ้นมา หรือแสดงอาการอะไรขึ้นมา คุณแม่มือใหม่ก็มักจะตกใจมากกว่าปกติ ซึ่งบ่อยครั้งเรื่องเล็ก ๆ ก็อาจจะกลายเป็นว่าทำให้เราคุมสติไม่อยู่ได้
เช่น ลูกน้อยเอาแต่ร้องไห้งอไง ปลอบเท่าไหร่ก็ไม่หยุด ยิ่งปลอบยิ่งร้อง เอาล่ะสิงานนี้…ปรี๊ดก็ปรี๊ด เหนื่อยก็เหนื่อย เครียดก็เครียด แต่ด้วยความรักลูกน้อยก็เลยทำให้ไม่ละเอียดในการตรวจเช็กว่า ที่ลูกน้อยร้องไห้นั้นเกิดจากอะไร ซึ่งหากลองใจเย็นๆ ลดการตื่นตูมลง อาจจะพบว่าที่ลูกน้อยร้องไห้นั้น อาจจะมาจากความอับชื้น หรืออาจจะเกิดจากหิวนมก็ได้ หรืออาจจะเพราะมองไปมองมาแล้วไม่เห็นคุณแม่อยู่ใกล้ ๆ ก็เลยร้องไห้ยกใหญ่เพื่อเรียกร้องความสนใจนั่นเอง ดังนั้นคุณแม่มือใหม่ที่มีลูกน้อยขวบปีแรกท่องไว้นะคะ ตั้งสติ ใจเย็นๆ ลดการตื่นตูมกับอาการต่าง ๆ ของลูกน้อยให้น้อยลง ก็จะทำให้ได้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องเรื่องเล็กนั่นเอง
2.คุณแม่ควรจัดสรรเวลาอย่างถูกต้อง
สำหรับเรื่องเวลาในข้อนี้หมายถึง เวลาที่ลูกน้อยควรดื่มนม กับเวลาที่ลูกน้อยควรพักผ่อน มีคุณแม่มือใหม่หลายคนเข้าใจผิดว่าในช่วงกลางคืน ควรปลุกลูกน้อยขึ้นมาดื่มนมก่อน ถึงแม้ว่าลูกน้อยจะหลับแล้วก็ตาม เพราะคิดว่าควรดื่มนมในทุกคืน เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน หรือมักคิดว่ากลางคืนไม่อยากให้ลูกน้อยตื่นขึ้นมาแล้วหิน ดังนั้นกลางคืนแม้ลูกน้อยจะหลับแล้วก็ควรลุกขึ้นมาดื่มนม
ในความเป็นจริงสำหรับลูกน้อยวัยขวบปีแรก คุณแม่มือใหม่ไม่ควรปลุกลูกน้อยช่วงดึกเพื่อลุกขึ้นมาดื่มนม กลางคืนคือเวลาพักผ่อนของร่างกาย เมื่อลูกน้อยนอนหลับแล้วก็ควรปล่อยให้เขาได้นอนหลับพักผ่อนอย่างอย่างเต็มที่จะดีกว่า
3.กับความสับสนของอาการที่เกิดขึ้น
ที่มักเห็นบ่อย ๆ ก็จะเป็นอาการแหวะนมกับอาการอาเจียน ซึ่งต้องบอกว่าแม้ 2 อาการนี้จะคล้ายกัน แต่ความแตกต่างนั้นสามารถแยกได้
อาการแหวะนมจะเกิดขึ้นหลังจากคุณแม่ให้นมลูกน้อยแล้ว โดยจะสังเกตได้ว่ามีของเหลวค่อยๆ ไหลออกมา แต่ของเหลวนั้นไม่มีสิ่งแปลกปลอมเจือปนและไม่มีกลิ่นเหม็น ซึ่งหลังจากลูกน้อยมีอาการแหวะนมแล้ว เขายังอารมณ์ดี ร่าเริง สามารถดูดนมแม่ได้ใหม่อีกครั้ง ซึ่งคุณแม่แก้ไขอาการนี้ได้ไม่ยาก คือ จับลูกน้อยพาดบ่าเรอทุกครั้งหลังให้นม
ส่วนอาการอาการอาเจียน จะสังเกตได้ว่ามีของเหลวจะพุ่งออกมา มีสิ่งแปลกปลอมเจือปน และมีกลิ่นเหม็น ควบคู่กับการร้องไห้งอแงร่วมด้วย ทั้งนี้หากพบว่าภายใน 24 ชั่วโมง ลูกน้อยยังมีอาการอาเจียนแบบนี้อยู่นั่นแสดงให้เห็นว่าอาจจะมีการติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร อาจมีไข้ร่วมด้วย หรือท้องเสียร่วมด้วย หรือปัสสาวะน้อย ควรรีบพาไปพบแพทย์ค่ะ
4.อย่าลืมหมั่นเช็กอุณหภูมิร่างกาย
อุณหภูมิร่างกายของลูกน้อยกับเราย่อมมีความแตกต่างกันแน่นอน สำหรับเด็กเล็กอุณหภูมิลูกเกิน 37 องศาเซลเซียส ก็ถือว่าไข้สูงแล้ว การใส่ใจกับอุณหภูมิรางกายของลูกน้อยจึงมองข้ามไม่ได้ เพราะโอกาสที่เขาจะไม่สบายนั้นมีได้บ่อยครั้ง คุณแม่มือใหม่บางคนบอกว่า เห็นลูกน้อยตัวอุ่นๆ ก็คิดว่าเป็นปกติ เพราะตัวคุณแม่เองก็ตัวอุ่น ๆ เช่นกัน นี่ล่ะค่ะ เป็นจุดเล็ก ๆ ที่มักพลาดและมองข้าม
จนทำให้เกิดอันตรายตามมา เช่น ลูกน้อยเกิดอาการชักเมื่อมีไข้สูงมากขึ้น อย่าลืมค่ะ…ว่าอุณหภูมิร่างกายเด็กกับผู้ใหญ่มีความแตกต่างกัน การคิดว่าลูกน้อยตัวอุ่น แล้วหาแค่เสื้อผ้ามาสวมให้อย่างเดียว โดยไม่ตรวจเช็กอุณหภูมิบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดอันตรายได้ เพราะเด็กบางคนเมื่อมีไข้สูงจะเกิดอาการชัก ซึ่งหากแก้ไขไม่ทันเวลาก็อาจเกิดการเสียชีวิตได้ ดังนั้นไม่ควรละเลยข้อนี้ค่ะ
5.กับการดูแลสุขภาพเหงือกและฟันของลูก
คุณแม่หลายคนมักคิดว่าลูกยังเด็กไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพช่องปาก ทำให้เกิดการละเลยอย่างตั้งใจ ซึ่งในความจริงแล้วสุขภาพช่องปาก เหงือกและฟัน ของลูกน้อยเป็นเรื่องที่คุณแม่ควรใส่ใจดูตั้งแต่เขายังเล็กค่ะ
โดยเฉพาะการไม่ปล่อยให้ลูกน้อยนอนหลับคาขวดนม และหมั่นทำความสะอาดเหงือกและฟันของลูกน้อยง่าย ๆ เริ่มจากใช้ผ้ากอซชุบน้ำ แล้วเช็ดที่เหงือกของลูกน้อย กระทั่งเมื่อฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น ก็ควรมีการชักชวนลูกบ้วนปากด้วยฟลูโอไรด์ ซึ่งเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาสุขภาพช่องปากในอนาคตของลูกน้อยได้
6.มักเลียนแบบคุณพ่อกับคุณแม่
รู้ไหมคะว่าลูกน้อยแม้เขาจะยังไม่สามารถสื่อสารกับเราได้อย่างเต็มที่ แต่เขาสามารถรับรู้ความรู้สึก ซึมซับ เลียนแบบและจดจำสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ส่งต่อไปยังเขาได้ ดังนั้นอย่าคิดว่าลูกยังเล็กแล้วเขาจะไม่รู้เรื่องนี้นะคะ สำหรับเรื่องนี้ใจความคือ คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกน้อย อยากให้เขาเป็นแบบไหน ก็ต้องทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างนะคะ
7.กับความเชื่อที่ส่งต่อ ๆ กันมา
ความเชื่อที่ว่าคือ เป็นข้อมูลที่ส่งมาจากไหนไม่รู้ อ่านจากอินเตอร์เน็ต เพื่อนบอกว่า เขาเล่าว่า และอีกสารพัด โดยข้อมูลเหล่านี้ไม่มีการระบุข้อมูลที่ชัดเจน ว่าสามารถเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน บุคคลที่ให้ข้อมูลมีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ มากพอหรือไม่ เพียงแต่ได้ยินได้ฟังมา และมาเล่าต่อ ๆ ว่าทำแล้วดี ซึ่งคุณแม่มือใหม่หลายคนมักเชื่อตาม เพราะด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกมาก่อน
สำหรับเรื่องนี้ขอแนะนำว่า หากมีการบอกต่อ ส่งต่อ ข้อมูลต่าง ๆ มาที่เรา คุณแม่ควรมีการเช็กก่อนว่าแหล่งข้อมูลนั้นมาจากไหน น่าเชื่อถือหรือไม่ เช่น ข้อมูลจากหมอ ข้อมูลจากสถานพยาบาล ข้อมูลจากประสบการณ์ของคุณย่าคุณยาย เป็นต้น และทำแบบนี้แล้วจะเหมาะกับลูกน้อยของเราไหม เพื่อจะได้ปลอดภัยสำหรับลูกน้อยของเรานั่นเองค่ะ
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..