อาการปวดในหูที่เกิดขึ้นกับลูกน้อย อาจจะทำให้คุณแม่หลายคนกังวล เพราะหูเป็นอวัยวะที่เล็กและรักษายากที่สุด เมื่อลูกมีอาการปวดหูคุณแม่ไม่สามารถทราบได้เลยว่า เกิดจากสาเหตุใด บางครั้งอาจจะใช้วิธีการดูแลในเบื้องต้นผิด ทำให้เกิดการอักเสบและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่รุนแรงตามมาได้ ดังนั้น เพื่อให้คุณแม่สบายใจ และสามารถรับมือกับอาการปวดหูในเบื้องต้นได้ ก่อนอื่นคุณแม่ควรจะทราบก่อนว่าสาเหตุหลัก ๆ ของอาการปวดหูนั้นเป็นเช่นไร มาดูสาเหตุของอาการปวดหูกันเลยค่ะ
สาเหตุหลักของอาการปวดในหู
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยมีอาการปวดหู เกิดจากอะไรนั้น ก็มีดังต่อไปนี้
- มดหรือแมลงตัวเล็ก ๆ เข้าหู คุณแม่สังเกตได้จากอาการปวดหูข้างเดียวอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน เช่น ในขณะที่ลูกนอนเล่นเฉย ๆ ก็มีอาการปวดหูขึ้นมา คุณแม่สามารถบรรเทาอาการในเบื้องต้นได้โดยการนำน้ำมันพืชหยอดหู แล้วพาไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
- หูชั้นนอกอักเสบ ลูกจะมีอาการปวดในหู เวลาดึงใบหูจะรู้สึกเจ็บมากขึ้น และอาจมีไข้ร่วมด้วย ซึ่งอาการหูชั้นนอกอักเสบส่วนมากเกิดขึ้นหลังจากใช้ไม้แคะหู หรืออาจเกิดจากโรคหวัดขึ้นหูได้อีกด้วย
- โรคเชื้อราในช่องหู ลูกจะมีอาการหูอื้อ มีอาการคันในช่องหูมากกว่าปกติ บางครั้งอาจมีอาการปวดหูร่วมด้วยก็ได้ โดยอาการปวดหูที่เกิดจากเชื้อราในช่องหูนั้น หากสงสัยให้นำสำลีชุบทิงเจอร์ใส่แผลสด เช็ดหูวันละ 3 – 4 ครั้งแล้วอาการจะดีขึ้น แต่ถ้าภายใน 2 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
- อาการปวดหูเกิดจากขี้หูอุดตันรูหู โดยลูกจะมีอาการหูอื้อ และมีอาการปวดหูร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดทันี่หลังเล่นน้ำ สระผม น้ำเข้าหู เพราะขี้หูอุ้มน้ำ พองจนอุดรูหู ลูกจะมีอาการเหมือนมีน้ำเข้าหูอยู่ตลอดเวลา คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาและวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องค่ะ เพื่อป้องกันการอักเสบของหูชั้นกลาง
นอกจากนี้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกปวดในหู อาจเกิดจากการดูดนมขวดขณะที่นอนบนพื้นราบ เนื่องจากต้องใช้แรงดูดมากกว่า และการนอนพื้นราบทำให้เกิดการไหลย้อนของนมเข้าไปในท่อยูสเตเชียนได้ง่าย จึงทำให้เกิดการอักเสบและปวดหูอย่างรุนแรงนั่นเอง
อาการปวดหูที่พบทั่วไป
อาการปวดในหูที่มักพบทั่วไป คุณแม่จะสังเกตได้จากอาการที่ลูกปวดบริเวณหู การได้ยินลดลง มีของเหลวไหลออกมาจากในหู ซึ่งเป็นอาการที่พบโดยทั่วไป แต่ถ้าลูกมีอาการปวดหูร่วมกับอาการอื่น ๆ จะมีอาการปวดหูอย่างรุนแรง คุณแม่สามารถสังเกตได้จาก อาการหูอื้อ ได้ยินเสียงไม่ชัด หรือมีการตอบสนองต่อเสียงที่ช้า มีไข้ร่วมด้วย ลูกนอนหลับยากกว่าปกติ ชอบเอามือจับหู หรือดึงใบหูของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ร้องไห้บ่อย หงุดหงิดง่ายกว่าปกติ ปวดศีรษะ ไม่ยอมทานอาหาร อาการเหล่านี้เป็นอาการปวดหูที่เกิดภาวะแทรกซ้อน คุณแม่จะต้องพาไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจและรักษาอย่างถูกต้องต่อไปค่ะ
ทั้งนี้ อาการปวดหูโดยทั่วไป จะมีอาการเพียง 2 – 3 วันเท่านั้น แต่สำหรับเด็กที่มีอาการปวดหูอย่างรุนแรงจะมีอาการปวดหูบ่อยครั้ง และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ขึ้นสูง มีการอาเจียน มีอาการบวมบริเวณรอบหู มีอาการเจ็บคออย่างรุนแรง รู้สึกเหมือนอะไรติดอยู่ที่หู ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง คุณแม่จะต้องพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดและรับการรักษาอย่างถูกต้อง
อาการปวดหูขั้นรุนแรง ที่คุณแม่ต้องระวัง
อาการปวดในหูอย่างรุนแรงส่วนมากเกิดจากการอักเสบของหูชั้นกลาง โดยการอักเสบของหูชั้นกลางนั้น เป็นภาวะการติดเชื้อ และเกิดการอักสบของหูชั้นกลาง เมื่อลูกมีอาการปวดหูอย่างรุนแรง คุณแม่จะสังเกตได้จาก การที่ลูกชอบเอามือดึงใบหูอยู่บ่อยครั้ง โดยมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร และเมื่อคุณแม่สังเกตว่าลูกมีอาการปวดหูอย่างรุนแรง และมีน้ำหนองไหลจากช่องหู เนื่องจากเกิดการอักเสบมากขึ้นควรไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้แก้วหูทะลุได้
เมื่อคุณแม่พบว่าลูกน้อยเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจจะทำให้หูเกิดการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งลูกจะมีอาการหูอื้อ และภาวะการได้ยินลดลง พูดเสียงดังขึ้น เรียกชื่อจะไม่ค่อยได้ยิน หรือเปิดโทรทัศน์เสียงดัง ๆ เด็กที่เป็นโรคนี้ จะมีอาการปวดหูอย่างมาก หูอื้อ ไม่สามารถเรียนรู้ หรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้ในระยะยาว
ภาวะแทรกซ้อนที่มาพร้อมกับอาการปวดหู
อาการปวดหูที่พบในเด็ก ไม่ได้เกิดขึ้นจากการอักเสบที่หูเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นอาการปวดร้าวมาจากบริเวณอวัยวะที่ศีรษะและลำคอด้วย เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ หรือ รากฟันอักเสบ เนื่องจากการวินิจฉัยโรคนั้น แพทย์จะไม่ตรวจหาสาเหตุของอาการปวดหูเพียงอย่างเดียว แต่จะตรวจอาการอื่น ๆ ที่ผิดปกติด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ลูกมีอาการปวดหูนั่นเอง ดังนั้นถ้าคุณแม่สังเกตว่าลูกมีอาการปวดหูอย่างต่อเนื่อง แนะนำให้รีบไปหาหมอในทันที
วิธีป้องกันการอักเสบของหูชั้นกลาง
การป้องกันการอักเสบของหูชั้นกลางที่ดีที่สุด คือ คุณแม่ต้องหมั่นทำความสะอาดหูของลูกน้อยอย่างเบามือที่สุด และควรจะทำทุกครั้งหลังอาบน้ำเสร็จ เพื่อให้หูของลูกสะอาดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการที่หูสกปรกจะทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบได้ง่าย ดังนั้น คุณแม่ควรจะดูแลความสะอาดบริเวณหู ทั้งภายในและภายนอก รวมถึง การเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติที่ลูกน้อยแสดงออกมาอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อพบกับความผิดปกติดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที ไม่ควรปล่อยไว้เป็นเวลานาน เพราะอาจจะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายได้ค่ะ
ได้รู้กันไปแล้วว่าสาเหตุของอาการปวดในหูที่เกิดกับลูกน้อยนั้น คืออะไร และมีวิธีการป้องกันอย่างไรบ้าง ดังนั้นเรามาสังเกตลูกน้อยกันดีกว่า ว่ามีอาการปวดหูหรือไม่ ซึ่งหากพบอาการผิดปกติเปล่านี้ คุณแม่อย่าได้นิ่งนอนใจเลยเชียว ยิ่งพาลูกไปพบแพทย์เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งปลอดภัยเท่านั้น
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่