คุณแม่เคยสังเกตฉี่ลูกกันบ้างไหม ว่าในแต่ละวันลูกน้อยฉี่วันละกี่ครั้ง เพราะเรื่องฉี่นั้นอาจไม่ใช่เรื่องเล่นๆเมื่อลูกฉี่ไม่ออก วันนี้ลองมาดูกันสิว่า ถ้าลูกไม่ฉี่เลย หรือฉี่น้อยครั้งมาก จะส่งผลอะไรต่อร่างกายของลูกบ้าง

ลูกฉี่ไม่ออก อันตรายไหม

สำหรับการขับถ่ายปัสสาวะที่ปกติในเด็กนั้น สามารถสังเกตได้จากสี และลักษณะของปัสสาวะที่ออกมา โดยสีของปัสสาวะ ควรเป็นสีเหลืองใส ไม่ขุ่น ไม่เป็นตะกอน ปัสสาวะพุ่งแรง ต่อเนื่องไม่ขาดตอน และเมื่อปัสสาวะเสร็จ ไม่ควรจะมีปัสสาวะหยดตามมา แต่ในกรณีที่สีของปัสสาวะเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีสีแดง ขุ่น เป็นตะกอน อาจแสดงถึงการเป็นโรคไต หรือมีการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้ถ้าพบว่าลูกฉี่ไม่ออก หรือฉี่ออกมาน้อยมาก ก็มักเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของร่างกายด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าปล่อยไว้ไม่รีบให้การรักษาย่อมเป็นอันตรายอย่างแน่นอน

สาเหตุที่ทำให้ลูกฉี่ไม่ออก ฉี่น้อย

สาเหตุที่ทำให้ลูกฉี่ไม่ออก มีดังต่อไปนี้

1.ขาดน้ำ

เมื่อลูกดื่มน้ำน้อย ก็ย่อมทำให้ร่างกายขับปัสสาวะออกมาได้น้อย นอกจากนี้ร่างกายอาจเกิดการสูญเสียน้ำได้ จากอาการท้องเสีย และอาเจียน ซึ่งส่งผลให้ปัสสาวะน้อย โดยคุณแม่สามารถสังเกตได้ว่าลูกมีอาการขาดน้ำหรือไม่ จากอาการต่างๆ เช่น ปากแห้ง ตาโหล กระหม่อมบุ๋ม ซึมผิดปกติ ไม่กินนม ดังนั้นในแต่ละวันควรให้ลูกได้ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ

2.การอุดกั้นที่ทางเดินปัสสาวะ

การอุดกั้นทางเดินปัสสาวะในเด็กนั้นบางคนนั้นอาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรืออาจเกิดขึ้นในภายหลังก็ได้ เช่นท่อปัสสาวะตีบ จนทำให้ฉี่ไม่ออก ซึ่งส่งผลทำให้เกิดอาการปวดท้อง โดยถ้าปล่อยไว้ไม่รีบทำการรักษา จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้ เช่น การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ

3. โรคไต

อาการหนึ่งที่บ่งบอกว่าอาจเป็นโรคไตนั้น คือปัสสาวะน้อย หรือปัสสาวะไม่ออก ซึ่งไต มีหน้าที่ในการกำจัดของเสีย และรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย ดังนั้นเมื่อการทำงานของไตเสียไป จึงทำให้ปัสสาวะผิดปกติตามไปด้วย อย่างเช่น การเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งแม้ว่าพบได้ไม่บ่อยนักในเด็ก แต่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ปัสสาวะออกน้อย

4. ภาวะช็อค

ภาวะช็อคนั้นเกิดขึ้นแบบกระทันหันไม่ทันได้ตั้งตัว ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น ขาดน้ำ ติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง ความผิดปกติของระบบประสาทและสมอง โรคประจำตัว และอุบัติเหตุเป็นต้น โดยเมื่อมีภาวะช็อค จะส่งผลให้มีอาการต่างๆ รวมทั้งทำให้ปัสสาวะน้อยลง หรือนานๆทีถึงจะปัสสาวะออกมา ดังนั้นผู้ที่อยู่ในภาวะช็อคควรได้รับการรักษาพยาบาลในทันที

5. พฤติกรรมการขับถ่ายที่ไม่เหมาะสม

พ่อแม่บางคนจับเด็กฝึกขับถ่ายอย่างเข้มงวด ทำให้เด็กไม่อยากขับถ่าย ซึ่งส่งผลต่อการควบคุมการขับปัสสาวะ ดังนั้นควรฝึกให้ลูกได้ขับถ่ายอย่างเหมาะสม เช่น ฝึกในตอนที่ลูกพร้อม สามารถบอกได้ว่าปวดฉี่ รวมทั้งลูกสามารถช่วยตัวเองในการถอดและใส่กางเกงได้อีกด้วย

ลูกควรฉี่มากน้อยแค่ไหนต่อวัน

คุณแม่ลองมาสำรวจกันดูสิว่า ในแต่ละวันลูกฉี่มากน้อยแค่ไหน

1. ช่วงแรกเกิด

Sponsored

ภายใน 12-24 ชั่วโมงหลังจากทารกเกิด ทารกจะปัสสาวะออกมาอย่างน้อย 1 ครั้ง และหลังคลอด2-3 วัน เมื่อนมแม่เริ่มมี ลูกก็จะขับปัสสาวะ 3-5 ครั้งต่อวัน ซึ่งยังน้อยอยู่เนื่องจากนมแม่ออกไม่เยอะ แต่หลังจากนี้เมื่อนมแม่มามากขึ้น ลูกก็จะปัสสาวะบ่อยขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับปริมาณน้ำนมที่กินเข้าไป

2. ทารกที่ทานนมแม่

เนื่องจากนมแม่นั้นย่อยได้ง่าย ทำให้ทารกขับปัสสาวะมากกว่า 6-8 ครั้งต่อวัน ยิ่งถ้าเด็กกินนมแม่เข้าไปมาก อาจปัสสาวะต่อวันมากกว่า 10ครั้ง หรือปัสสาวะทุก 1-3 ชั่วโมง หรือปัสสาวะทุกครั้งที่ได้กินนมแม่ กันเลยทีเดียว และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเด็กที่กินนมผงแล้วนั้น เด็กที่กินนมผงซึ่งย่อยได้ยากกว่านมแม่นั้น อาจปัสสาวะเพียงวันละ 3-4 ครั้ง

3. ปัจจัยอื่นๆ

ความถี่ในการขับปัสสาวะในเด็กนั้น แตกต่างกัน ซึ่งไม่เพียงแต่ขึ้นกับปริมาณของนมแม่ที่กินเข้าไปแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัย เช่น ระบบขับถ่ายของเด็กแต่ละคน ที่ส่งผลให้เด็กมีปัสสาวะบ่อยแค่ไหน หรือมากน้อยเพียงใด

4. วัดจากปริมาณปัสสาวะที่ออกมา

เมื่อนำปัสสาวะมาตวงดู ทำให้รู้ปริมาณที่แท้จริง ซึ่งก็จะทำให้ทราบได้แน่ชัดว่า ฉี่ลูกน้อยในแต่ละวันนั้น เป็นเช่นไร เช่น ถ้าพบว่าในหนึ่งชั่วโมง ทารกแรกเกิด ปัสสาวะออกมาน้อยกว่า 1มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ให้ถือว่า ปัสสาวะได้น้อย ส่วนเด็กที่อายุ 1 เดือนขึ้นไป ที่ปัสสาวะน้อยกว่า 0.5มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ภายในหนึ่งชั่วโมง ถือว่า เป็นเด็กปัสสาวะน้อย

5. ความแตกต่างของวัย

เด็กในวัยก่อน 6 เดือนจะปัสสาวะบ่อย ซึ่งมากกว่า10 ครั้งต่อวัน แต่หลังจาก 6 เดือนเป็นต้นไป เด็กก็จะปัสสาวะน้อยลง เนื่องจากเริ่มทานอาหารเสริมกันแล้ว จนกระทั่ง เมื่อเด็กมีอายุ9-11 เดือน เด็กจะปัสสาวะเหลือเพียง 8-10 ครั้งต่อวัน และเมื่อเด็กมีอายุ 1ปีขึ้นไป จะปัสสาวะเพียง 6-8ครั้งต่อวัน รวมทั้งช่วงเวลากลางคืนก็จะลดน้อยลงเหลือเพียง 1-3 ครั้งต่อวันอีกด้วย

อาการฉี่ไม่ออก หรือฉี่น้อยนั้นมีผลต่อสุขภาพของลูกน้อย ซึ่งพ่อแม่ไม่ควรละเลย ควรหมั่นสังเกต และเมื่อพบความผิดปกติควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆได้ นอกจากนี้ควรฝึกให้ลูกมีทัศนคติที่ดีต่อการขับถ่าย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับการควบคุมการขับปัสสาวะตามมาในภายหลัง

= = = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

https://www.facebook.com/teamkonthong/

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

1.หัดกุหลาบ โรคนี้เป็นอย่างไร อันตรายต่อลูกน้อยมากแค่ไหน

2.โรคภูมิแพ้ตัวเอง คุณแม่รู้ไหม ลูกน้อยก็อาจเป็นได้