ลูกกัดหัวนม … เป็นธรรมชาติของเด็กทารกที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ที่จะเริ่มกัดหัวนมคุณแม่ นั่นก็เพราะอยู่ในช่วงที่ฟันเริ่มงอกออกมา จึงทำให้เขารู้สึกรำคาญและไม่ค่อยสบายเหงือกมากนัก

ลูกกัดหัวนม ปัญหาที่คุณแม่ต้องเจอ

และเนื่องจากเขายังไม่รู้ว่าการกัดหัวนมจะทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บ จึงรู้สึกสนุกและมักจะกัดหัวนมแม่บ่อยๆ เหมือนกับกำลังเล่นกับของเล่นสุดโปรด แต่ทั้งนี้หากปล่อยให้ลูกกัดหัวนมต่อไปก็คงไม่ดีแน่ เพราะนอกจากจะทำให้เกิดอาการเจ็บแล้ว ยังเสี่ยงต่อหัวนมแตก ซึ่งจะเป็นปัญหามากกว่าเดิมอีกด้วย เพราะฉะนั้นมาเรียนรู้ที่จะรับมือเมื่อลูกกัดหัวนมแม่กันดีกว่า

1.วางนิ้วมือไว้ใกล้กับปากลูก

ในขณะที่ลูกกำลังดูดนม แนะนำให้คุณแม่วางนิ้วมือไว้ใกล้กับปากลูกมากที่สุด เพราะหากลูกกัดหัวนมคุณแม่จะได้สอดนิ้วเข้าไปไม่ให้ลูกกัดหัวนมได้ทัน แต่วิธีนี้คุณแม่จะต้องล้างมือให้สะอาดก่อนให้นมลูกด้วย เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจเข้าสู่ตัวลูก เมื่อลูกกัดหรืออมเข้ากับนิ้วมือของแม่พอดี

2.ดึงความสนใจของลูก

การดึงความสนใจของลูกออกจากการดูดนมจะทำให้ลูกลืมความรู้สึกไม่สบายเหงือกที่เป็นสาเหตุของการกัดนมแม่ไปชั่วขณะ ซึ่งก็จะทำให้ลูกดูดนมโดยไม่กัดนมแม่นั่นเอง โดยสำหรับวิธีการดึงดูดความสนใจของลูกก็สามารถทำได้ด้วยการจ้องมองเขาในขณะกำลังดูดนม หรือการพูดคุยเล่นกับเขาไปเรื่อยจนลูกดูดนมเสร็จ เท่านี้ก็ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะกัดหัวนมแม่แล้ว

3.ให้นมลูกในเวลาที่เหมาะสม

สำหรับเด็กบางคนจะมีช่วงเวลาที่จะกัดหัวนมแม่โดยเฉพาะ ดังนั้นคุณแม่จึงต้องลองสังเกตดูว่าโดยปกติแล้วลูกมักจะกัดหัวนมเวลาไหน เช่น เวลาหิว เวลาง่วง หรือเวลาหลับ เป็นต้น หากพบแล้วว่าลูกชอบกัดหัวนมตอนไหนก็ให้เลี่ยงการให้นมลูกในเวลานั้น เท่านี้คุณแม่ก็จะปลอดภัยจากการที่ลูกกัดหัวนมมากขึ้น แต่สำหรับคนที่ลูกมักจะกัดหัวนมตลอดเวลาจนไม่สามารถเลือกเวลาปลอดภัยได้ ก็ให้ใช้วิธีอื่นๆ ในการรับมือกับลูกน้อยแทน

4.แสดงให้ลูกรู้ว่าแม่เจ็บ

หลายคนอาจคิดว่าเด็กทารกคงจะยังไม่เข้าใจถึงการสื่อสารต่างๆ แต่ความจริงแล้วเขาสามารถรับรู้ได้ตั้งแต่ 3 เดือนแรก ดังนั้นหากลูกกัดหัวนม คุณแม่ก็ควรที่จะแสดงให้เขารับรู้ว่าเขากำลังทำให้แม่เจ็บ ด้วยการดุเขาเบาๆ ซึ่งเมื่อทำแบบนี้บ่อยๆ ลูกจะเกิดการเรียนรู้ว่าไม่ควรกัดหัวนมแม่แล้วเขาจะไม่ทำอีก แต่ถ้าแค่การดุไม่ได้ผล คุณแม่ก็อาจใช้วิธีการเอาลูกออกจากเต้านมแล้วไม่ให้ลูกดูดนมแทน โดยทำทุกครั้งที่ลูกกัด เขาก็จะรับรู้ว่าถ้ากัดหัวนมแม่จะไม่ได้ดูดนม และเขาก็จะไม่ทำอีก อย่างไรก็ตามวิธีนี้อาจต้องใช้เวลาพอสมควร

5.ค่อยๆ ดึงลูกออกจากหัวนม

เมื่อลูกกัดหัวนม คุณแม่บางคนอาจรู้สึกเจ็บและตกใจจึงรีบดึงลูกออกจากหัวนมทันที ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้ลูกกัดหัวนมแม่แรงขึ้น เพราะฉะนั้นหากลูกกัดหัวนม แนะนำว่าควรค่อยๆ ดึงลูกออกจากหัวนมแบบค่อยเป็นค่อยไปดีกว่า โดยใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในปากลูกให้ลูกปล่อยหัวนมก่อน จากนั้นจึงดึงลูกออก หรืออาจพยายามดึงดูดความสนใจของลูกไปที่อย่างอื่นเพื่อให้ลูกคลายการกัดหัวนมก่อนนั่นเอง

Sponsored

6.เอาลูกออกจากเต้าเมื่อเขาหลับ

เมื่อลูกหลับ คุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกอมหัวนมเอาไว้ เพราะเขาอาจจะเผลอกัดในขณะกำลังหลับโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นเพื่อเลี่ยงการที่ลูกกัดหัวนมขณะหลับ คุณแม่ควรเอาลูกออกจากเต้านมทันที แต่หากเอาออกแล้วลูกร้องขึ้นมาก็ให้ปลอบโยนเบาๆ และกอดให้เขารู้สึกอบอุ่นจนหลับไปอีกครั้ง อย่างไรก็ตามในเด็กบางคนที่ติดหัวนมมาก คุณแม่อาจนำหัวนมยางมาเปลี่ยนให้ลูกดูดแทนเมื่อเอาลูกออกจากเต้านมแล้วก็ได้

7.ให้รางวัลเมื่อลูกไม่กัดหัวนม

เด็กทารกสามารถรับรู้ได้ถึงการที่แม่ให้รางวัล ซึ่งก็สามารถนำมาใช้กับการป้องกันไม่ให้ลูกกัดหัวนมได้ดี โดยสามารถทำได้ด้วยการพูดชมทุกครั้งที่ลูกไม่กัดหัวนม หรือใช้วิธีสื่อสารทางกายด้วยการกอดหรือจูบลูกแทน แต่คุณแม่จะต้องทำเฉพาะเวลาที่ลูกไม่กัดหัวนมเท่านั้น เพื่อที่เขาจะได้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้นว่าคุณแม่ต้องการสื่ออะไรถึงเขานั่นเอง

8.นวดเงือกและฟันให้ลูกบ่อยๆ

เพราะสาเหตุที่ลูกกัดหัวนม มาจากการที่ลูกรู้สึกไม่ค่อยสบายเหงือกจากฟันที่กำลังขึ้นใหม่ ดังนั้นคุณแม่จึงควรนวดเหงือกและฟันให้ลูกบ่อยๆ ซึ่งเมื่อลูกรู้สึกสบายเหงือกมากขึ้น เขาก็จะลดการกัดหัวนมลงไปด้วย แต่ทั้งนี้คุณแม่ก็ควรนวดอย่างถูกวิธีและต้องล้างมือให้สะอาดก่อนนวดให้ลูกทุกครั้ง

ไม่ยากเลยใช่ไหมกับวิธีการรับมือเมื่อลูกกัดหัวนมแม่ เพราะฉะนั้นลองนำวิธีเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กันดูสิ แล้วปัญหาลูกกัดหัวนมจะหมดไปอย่างแน่นอน

= = = = = = = = = = = =

ติดตามความรู้ดี ๆ  และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/

We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook

https://www.facebook.com/teamkonthong/

บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..

1.ปอดอักเสบ เกิดจากอะไร? แม่ท้องเป็นโรคนี้จะส่งผลต่อลูกในครรภ์ไหม

2.อาการท้องแรก และ 7 เรื่องที่คุณแม่มือใหม่ต้องรู้