โรคออทิสติก ชื่อนี้ฟังแล้วคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับลูกตัวเอง หรือกับเด็กๆ ทุกคนแน่นอน แต่ด้วยการที่คุณแม่ซึ่งกำลังตั้งครรภ์ไม่อาจจะทราบได้ว่า ลูกน้อยในครรภ์เมื่อคลอดออกมาแล้วจะเป็นออทิสติกหรือไม่ หากได้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นออทิสติกก็จะช่วยให้หาแนวทางป้องกันหรือวิธีรับมือได้ง่ายขึ้น ดังนั้นเราจะพาคุณแม่ไปดูกันว่าปัญหาขณะตั้งครรภ์อะไรบ้าง ที่อาจส่งผลให้ลูกเป็นออทิสติกได้
โรคออทิสติก คืออะไร
โรคออทิสติก ที่พบได้ในเด็กส่วนใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมองมาตั้งแต่กำเนิด จึงส่งผลต่อพัฒนาการร่างกายให้ไม่สมบูรณ์ทั้ง 3 ด้าน คือ
- พัฒนาการด้านการสื่อสาร ทำให้เด็กจะพูดได้ช้ากว่าเกณฑ์ที่กำหนด
- ด้านการเข้าสังคม เด็กที่เป็นออทิสติกจะไม่สบตาเวลาพูด เป็นเด็กที่ดูเฉยเมยไร้อารมณ์ การปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ไม่ดี นอกจากนี้ไม่แสดงอารมณ์ดีใจหรือเสียใจออกมา
- ด้านการเล่น เด็กออทิสติกเล่นซ้ำๆ มองซ้ำๆ สนใจในรายละเอียดมากเกินไป ชอบปลีกตัวมาเล่นตามลำพัง ไม่สนใจการเล่นกับเพื่อน
ปัญหาขณะตั้งครรภ์ ที่ทำให้ลูกเสี่ยงเป็นออทิสติก
สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาโรคออทิสติกในเด็ก ส่วนใหญ่มักมาจากเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ ซึ่งพอจะแยกแยะได้เป็นข้อๆ ดังนี้
1.ด้านโภชนาการ
อาหารเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์เหมือนๆ กับทุกช่วงอายุ ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือการกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วน ทั้งโปรตีน ผัก ผลไม้ ธัญพืช ที่สำคัญคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารแปรรูป และอาหารที่ใส่สารปรุงแต่งอาหารทุกชนิด มีสารชนิดหนึ่ง เรียกว่า PPA โดยสารชนิดนี้จะส่งผลต่อสมองทารกโดยตรง และทำให้เกิดผลเสียดังนี้
- กระตุ้นให้มีการผลิตเซลล์เกลียวออกมามากผิดปกติ จึงทำให้การเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ประสาทถูกทำลาย ส่งผลให้สมองของลูกหยุดการพัฒนา และมีอาการอักเสบจนเป็นออทิสติกได้
- ทำลายความสมดุลของสมอง จึงส่งผลให้สมองของลูกน้อยในครรภ์ มีพัฒนาการช้าลง ลูกจึงมีปัญหาทางสมองตั้งแต่แรกเกิด และมีอาการเป็นออทิสติกเมื่อพ้นวัยทารก
- ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเส้นทางการสื่อสารของเซลล์ประสาท จึงทำให้ลูกมีการโต้ตอบช้า รวมถึงความสามารถในการรับรู้น้อยลง นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการเคลื่อนไหวอีกด้วย
2.ความเครียด
ความเครียดมักจะเป็นปัญหาแรกๆ ระหว่างการตั้งครรภ์ของคุณแม่หลายๆ คน ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าจะมีผลเสียต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทั้งระบบภูมิคุ้มกันและฮอร์โมน ซึ่งวิธีการลดความเครียดที่ได้ผลดีต่อทารกในครรภ์ คือการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ รวมถึงการกำหนดลมหายใจก็จะช่วยให้คุณแม่ลดความเครียดลงได้
3.การติดเชื้อ
การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ มีส่วนในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันโรคให้ทำงานมากจนเกินไป จนทำให้มีความเสี่ยงของพัฒนาการทางระบบประสาทให้ทำงานบกพร่องมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่อาจทำให้เกิดโรคออทิสติกในเด็กได้
4.สารพิษ
ขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการสูดดมสารพิษ สารเคมี ไม่ว่าจะเป็นแอลกอฮอล์ ยาเสพติด หรือยาฆ่าแมลง นอกจากนี้ควรเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ก่อสร้าง หรือทำการต่อเติมบ้านขณะตั้งครรภ์ เพราะอาจจะทำให้ได้รับฝุ่นละออง สารเคมี หรือสารพิษต่างๆ จากการสูดดม เข้าทางจมูก ปาก จนไปสู่ปอดและอาจมีสารพิษเข้าสู่ระบบการไหลเวียนเลือดจนทำให้มีความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ และมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคออทิสติกในเด็กได้
5.การทำศัลยกรรมต่าง ๆ
คุณแม่ที่รักความสวยงาม หากจะทำการการฉีดโบท็อกซ์ หรือเสริมจมูก ขณะตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง หากได้ทำไปแล้วก็ควรวางแผนในการตั้งครรภ์ให้ยืดออกไปอย่างน้อยก็ควรจะห่าง 6-12 เดือนก่อนตั้งครรภ์ จึงจะปลอดภัยต่อการเกิดโรคออทิสติกได้
ดูแลลูกน้อยที่เป็นออทิสติกอย่างไร
การดูแลเด็กที่เป็นออทิสติก โดยทั่วไป จะเลี้ยงเหมือนเด็กปกติ แต่ควรเน้นการกระตุ้นในจุดที่เป็นปัญหาให้เพิ่มขึ้น นอกจากก็ต้องส่งเสริมในส่วนที่เป็นความสามารถเฉพาะตัวของเด็ก ให้ได้พัฒนาควบคู่กันไปด้วย ซึ่งในแต่ละช่วงวัยก็มีส่วนสำคัญที่จะต้องเน้นแตกต่างกันตามช่วงอายุ ดังนี้
- ในช่วงปฐมวัย 5 ขวบปีแรก ตั้งแต่คุณแม่เริ่มรู้ว่าลูกเป็นเด็กออทิสติกแน่นอนแล้ว ให้รีบนำลูกไปเข้าโปรแกรมปรับพฤติกรรมแบบเข้มข้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการฝึกพูด และแก้ไขการพูดให้ดีขึ้น นอกจากนี้ควรได้รับการเสริมสร้างทักษะในการดูแลตนเอง รวมถึงทักษะทางสังคมที่เหมาะสมตามวัยของลูกด้วย
- ควรมีการกระตุ้นให้เด็กตอบสนองอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเรียกลูกให้หันมามองหน้าตามเสียงเรียก พร้อมทั้งให้ลูกมองหน้าแบบสบตา และชวนลูกเล่นโต้ตอบกัน ก็เพื่อหวังให้ลูกได้รับการกระตุ้น จะได้ออกจากโลกส่วนตัวของตนเอง มารับรู้และสนใจสิ่งแวดล้อมรอบข้างเพิ่มมากขึ้น หากปล่อยให้ลูกใช้ชีวิตเป็นไปตามธรรมชาติของเขา ก็จะทำให้อยู่ในโลกส่วนตัวมากเกินไป จนไม่สนใจผู้อื่น และจะทำให้อาการแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งพบว่าเด็กออทิสติกส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับการดูแล จะกระตุ้นตัวเองโดยการโยกตัว หมุนตัวเอง หรือเล่นมือตัวเอง และบางรายจะส่งเสียงเป็นภาษาของตัวเอง และไม่ยอมเรียนรู้โลกภายนอกจนทำให้โรคออทิสติกที่เป็นอยู่ไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นได้
- ควรเตรียมความพร้อมพื้นฐานในการเรียนรู้ คุณแม่สามารถทำการฝึกฝนให้ลูกที่เป็นออทิสติกเข้าใจคำสั่งง่ายๆ และทำตามได้ เช่น ขอ ยกมือขึ้น กอดอก หรือนั่ง นอกจากนี้ควรฝึกฝนให้ลูกมีสมาธิจดจ่ออยู่กับกิจกรรมที่ทำได้นานๆ และไม่ควรลุกเดินไปมา
โรคออทิสติกจะพบได้บ่อยมากขึ้น เมื่อศึกษาประวัติการใช้ชีวิตของคุณแม่ทั้งก่อนตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ พบว่าส่วนใหญ่จะเกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอก และปัจจัยภายในเป็นตัวเสริม จึงทำให้มีโอกาสที่คุณแม่คลอดลูกออกมาแล้วมีโอกาสเป็นออทิสติกได้มากขึ้น หากคุณแม่ท่านใดอยากให้ลูกน้อยคลอดออกมาแล้ว มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ปลอดภัยห่างไกลจากโรคออทิสติก ก็ควรเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความนี้
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่