ฝากครรภ์ดีอย่างไร การฝากครรภ์ คุณแม่หลายท่านอาจจะพอเข้าใจกันไปบ้างแล้ว แต่สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่อาจจะยังเกิดความสงสัย และมีบางอย่างที่ยังไม่รู้ว่า การฝากครรภ์จริง ๆ แล้วสำคัญต่อคุณแม่หรือทารกในครรภ์อย่างไร ดังนั้นบทความของเราวันนี้ จึงของหยิบยกเรื่องของการฝากครรภ์ ว่ามีความสำคัญอย่างไร
การฝากครรภ์คืออะไร
การฝากครรภ์ คือ การที่คุณมอบร่างกายที่กำลังตั้งครรภ์ ให้อยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้มีความรู้ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นดูแลเกี่ยวกับสุขภาพในระหว่างตั้งครรภ์ ไปตลอดจนคลอดบุตรได้อย่างราบรื่น
ประโยชน์ของการฝากครรภ์
- คุณแม่จะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติตัวในระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งก่อนและภายหลังคลอด คุณแม่จะได้รับคำแนะนำดี ๆ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิธีการดูแลลูกอย่างถูกต้องหลังจากที่คุณคลอดมาอย่างปลอดภัยแล้ว
- การฝากครรภ์ จะทำให้คุณแม่มือใหม่ ไม่วิตกกังวลในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เมื่อคุณแม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องแล้ว จะทำให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
- เมื่อคุณมีโรคแทรกซ้อน หรือมีโรคอื่น ๆ ก่อนการตั้งครรภ์ แพทย์จะตรวจพบแล้วทำการรักษาได้แต่เนิ่น ๆ ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
- เมื่อฝากครรภ์คุณแม่จะรู้ว่ากำหนดคลอดของลูกคือช่วงใด ถึงแม้ว่าส่วนมากจะไม่ถูก 100% แต่ก็ใกล้เคียง คุณแม่สามารถเตรียมตัว เตรียมใจและเตรียมความพร้อมในการเลี้ยงดูลูกน้อยต่อไปได้ค่ะ
สำหรับคุณแม่มือใหม่ควรเตรียมตัวฝากครรภ์ ดังนี้
- ประวัติส่วนตัวทั้งปัจจุบัน และอดีต ว่าคุณเคยเจ็บป่วยโรคร้ายแรงหรือไม่ และเคยผ่าตัดส่วนใดบ้าง
- ประวัติของคนในครอบครัวทั้ง พ่อแม่ ญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่าย ว่าใครเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอด วัณโรค และอื่น ๆ หรือไม่
- ประวัติของรอบเดือน ที่สำคัญคือวันที่มีรอบเดือนครั้งสุดท้ายนั้น เมื่อใด เพราะแพทย์จะได้นำมาคำนวณหาวันกำหนดคลอดต่อไป
- ประวัติการคลอดบุตรที่ผ่านมา (หากคุณเคยมีลูกแล้ว) คุณเคยคลอดลูกตัวโตไหม น้ำหนักเท่าไร และคลอดยากคลอดง่ายอย่างไร อะไรประมาณนี้ค่ะ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ของตัวคุณแม่ทั้งนั้น
เวลาในการฝากครรภ์ ที่เหมาะสม
แนะนำให้รีบไปฝากครรภ์ทันทีที่รู้ผลการทดสอบครรภ์ว่าเป็นบวกค่ะ เพราะยิ่งคุณฝากครรภ์เร็วเท่าไหร่ลูกในท้องก็จะมีความปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น ระยะเวลาตั้งครรภ์ไม่ควร 3 เดือน ถึงจะเหมาะสมในการฝากครรภ์
ขั้นตอนการฝากครรภ์
- ชั่งน้ำหนักของคุณแม่
การฝากครรภ์ครั้งแรกและครั้งต่อ ๆ ไปคุณแม่ต้องชั่งน้ำหนักทุกครั้งค่ะ เพื่อให้รู้ว่าน้ำหนักของคุณแม่ตอนเริ่มตั้งครรภ์อยู่ที่เท่าไหร่ และในระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด นั่นเพราะน้ำหนักมีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของทารกในครภ์ ตลอดการตั้งครรภ์น้ำหนักของคุณแม่ควรเพิ่มขึ้นประมาณ 10 – 12 กิโลกรัม ถ้ามากกว่านี้ อาจจะต้องตรวจหาโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ว่ามีหรือไม่ต่อไปค่ะ
- วัดส่วนสูง
คุณแม่ที่มีความสูงน้อย และตัวเล็กจะคลอดยาก เพราะอุ้งเชิงกรานมีขนาดเล็ก จึงอาจจะต้องเลือกการผ่าคลอดแทนออกตามธรรมชาติ
- การตรวจอาการบวม
การตรวจอาการบวมนี้ ส่วนมากจะทำในช่วงท้าย ๆ ก่อนคลอดบุตรค่ะ เพราะคุณแม่ส่วนใหญ่จะมีอาการบวมในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ถ้ามีอาการบวมมากอาจต้องตรวจดูว่ามีอาการแทรกซ้อนอะไรอื่น ๆ อีกหรือไม่
- การตรวจเต้านม
คุณหมอจะตรวจเต้านมคุณแม่ เพราะว่าน้ำนมแม่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับทารกแรกเกิดอย่างมาก ซึ่งน้ำนมแม่เป็นแหล่งอาหารชั้นดี ที่มีความสำคัญต่อลูกน้อย คุณหมอจะตรวจดูว่า หัวนมคุณแม่บอดหรือไม่ หรือมีความผิดปกติส่วนใด และหากพบความผิดปกติดังกล่าว คุณหมอจะหาวิธีแก้ และแนะนำวิธีให้ลูกดูดอย่างถูกต้อง โดยที่ลูกน้อยได้รับน้ำนมอย่างเพียงพอโดยไม่ต้องเสริมด้วยนมอื่นเลยค่ะ
- ตรวจหน้าท้องคุณแม่
การตรวจหน้าท้องคุณหมอจะทำการตรวจทุกครั้งค่ะ เพื่อดูการเจริญเติบโตของมดลูก และทารกในครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาใกล้คลอด คุณหมอจะคลำดูว่าทารกในครรภ์อยู่ในท่าที่ถูกต้องหรือไม่ หรือดูว่าลูกกลับหัวอยู่ในท่าเตรียมคลอดหรือไม่ เพราะศีรษะของลูกในช่วงนี้ต้องอยู่ในท่าเตรียมคลอด เพื่อให้คลอดออกมาได้ง่าย
- วัดความดันโลหิตสูง
การวัดความดันโลหิตสูง มีความสำคัญอย่างมาก พยาบาลจะดูว่าความดันของคุณแม่สูงมากเกินไปหรือไม่ และมีอาการบวมร่วมด้วยไหม เพราะถ้ามีอาการดังกล่าว คุณแม่อาจจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ค่ะ
- การตรวจภายใน
คุณหมอจะตรวจภายในครั้งแรก เมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์ เพื่อเช็คมะเร็งปากมดลูก และจะมีการตรวจอีกครั้งตอนใกล้คลอดค่ะ เพื่อตรวจดูว่าคุณแม่มีการติดเชื้ออะไรที่เป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่
- การตรวจเลือด
การตรวจเลือดสำคัญมาก คุณแม่ต้องตรวจเลือดตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปฝากครรภ์ เพราะคุณหมอต้องการทราบว่าคุณแม่มีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่ หรือมีโรคอันตรายที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์หรือไม่
- ตรวจปัสสาวะ
การตรวจปัสสาวะก็ตรวจทุกครั้งเมื่อไปฝากครรภ์เช่นกันค่ะ คุณหมอตรวจปัสสาวะ ก็ต้องการทราบว่าระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่มีอาการแทรกซ้อนอะไรหรือไม่
คุณแม่มือใหม่คงคลายความกังวลลงบ้างแล้วใช่ไหมค่ะ เกี่ยวกับขั้นตอนการฝากครรภ์ และความรู้ที่เรามอบให้เกี่ยวกับความสำคัญของการฝากครรภ์ หากคุณแม่กำลังตั้งครรภ์อยู่ในตอนนี้ แล้วยังไม่ได้ฝากครรภ์ รีบไปตอนนี้เลยค่ะ เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งของคุณแม่และลูกน้อย
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..