ลูกสมาธิสั้น ..โรคสมาธิสั้นนับเป็นโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อพฤติกรรมและการเรียนของเด็กในวัยเรียนเป็นอย่างมาก ซึ่งพ่อแม่สามารถฝึกวิธีการช่วยเหลือและให้การส่งเสริมการเรียนของลูกได้ ซึ่งในบทความนี้เราจะนำเสนอแนวทางสำหรับการช่วยเหลือลูกน้อยสมาธิสั้นให้การเรียนต่าง ๆ ดีขึ้นดังต่อไปนี้
ให้ความช่วยเหลือลูกในเรื่องการทำการบ้าน
เด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้นมักประสบปัญหาในการทำงาน การจัดลำดับความสำคัญต่าง ๆ และมักขาดสมาธิ วอกแวกได้ง่าย ไม่จดจ่อกับการทำงาน มีอาการเหม่อลอยและทำงานได้ช้าไม่เรียบร้อย
เมื่อ ลูกสมาธิสั้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความใส่ใจในเรื่อง
- จัดตารางเวลาให้เหมาะสมกับลูก เช่น เวลานอน เวลากิน เวลาตื่นนอน เวลาอาบน้ำ ไปโรงเรียน การทำการบ้าน และการอ่านหนังสือ
- เตรียมอุปกรณ์สำหรับทำการบ้านให้พร้อม เช่น ยางลบ ดินสอ ไม้บรรทัด สถานที่ทำการบ้านควรเป็นที่สงบและไม่ควรมีเสียงรบกวนใด ๆ เช่น เสียงทีวี วิทยุ หรือเครื่องเสียงที่เปิดเพลงอยู่
- แบ่งงานออกเป็นส่วน ๆ หรือเป็นขั้นตอน เพื่อช่วยให้ลูกจัดเรียงลำดับความสำคัญ ทีละขั้นตอนซึ่งจะช่วยทำให้ลูกทำงานได้ง่ายขึ้น
- หาตัวอย่างให้ลูกดูแล้วทำตาม ควรนั่งประกอบเพื่อคอยให้คำแนะนำเวลาลูกทำการบ้าน
ให้ความช่วยเหลือทางด้านพฤติกรรม
เด็กสมาธิสั้นมักจะมีพฤติกรรมวอกแวกได้ง่าย หุนหันพลันแล่น และอยู่ไม่นิ่ง มีพฤติกรรมท้าทาย และต่อต้าน ดังนั้นพ่อแม่ควรให้การฝึกฝนการควบคุมตนเองให้กับลูก โดยเฉพาะกับพฤติกรรมที่ไม่ดี หรือไม่พึงประสงค์
- แบบอย่างที่ดีคือพ่อแม่ จะต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเองเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก
- ตั้งกฎระเบียบที่เข้าใจได้ง่าย และสามารถปฏิบัติตามได้ มีการให้รางวัลเมื่อทำความดี และมีการลงโทษเมื่อลูกทำความผิด ทั้งนี้ควรตระหนักว่าการให้คำชมและรางวัลนั้นถือเป็นกำลังใจที่ดีสำหรับเด็ก
- การลงโทษลูกควรทำเมื่อลูกสงบแล้ว และค่อยพูดในสิ่งที่ลูกได้ทำผิดและไม่ถูกต้อง รวมถึงผลของการกระทำที่อาจเกิดขึ้น อาจลงโทษด้วยการงดทำกิจกรรมบางอย่างที่ลูกชอบเป็นการชั่วคราว
- ควรตอบสนองทันทีเมื่อลูกได้ทราบผลที่เกิดขึ้น หรือแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ทั้งในส่วนที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ เพื่อให้ลูกรู้ว่าอย่างไหนดี หรือไม่ดี
- ควรให้มีเวลาพักเพื่อการเคลื่อนไหวเปลี่ยนอิริยาบทกับลูกเป็นช่วง ๆ เช่น เวลาทำการบ้านนาน ๆ หรือทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเป็นเวลานาน
- การสื่อสารให้เข้าใจนั้นอาจจำเป็นต้องใช้ท่าทางประกอบ เพื่อช่วยให้ลูกรับรู้และมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
ให้ความช่วยเหลือลูกในด้านสังคม
เด็กที่มีสมาธิสั้นนั้นมักมีปัญหาเรื่องความเข้าใจสังคม เช่น พูดมาก เสียงดัง แกล้งเพื่อน เล่นแรง ๆ ชวนเพื่อนคุย พ่อและแม่จึงต้องฝึกเรื่องการตอบสนองต่อสังคมที่ถูกต้อง เพื่อให้ลูกน้อยสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อน ๆ ในห้องเรียนได้และอยู่ในสถานที่ซึ่งมีการแข่งขันได้
- สร้างเรื่องสมมติขึ้นมาแล้วชวนลูกเล่นบทบาทเหล่านั้น โดยอาจจำลองสถานการณ์ที่เกี่ยวกับทักษะทางสังคมให้ลูกฝึกฝนแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ได้ด้วยตนเอง
- ให้โอกาสลูกในการเข้าร่วมสังคมบ่อย ๆ เช่น พาไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน เล่นกับเพื่อนบ้าน ไปเยี่ยมญาติ หรือร่วมกิจกรรมกับชุมชน
- พูดแต่ในทางที่ดีเกี่ยวกับตัวลูกให้เป็นที่รู้จักในสังคม
นอกจากนี้เด็กที่มีสมาธิสั้นนั้น ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเหมาะสมไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือที่โรงเรียนก็ตาม ดังนั้นการมองหาสถานศึกษา หรือโรงเรียนที่เหมาะสมย่อมเป็นการดีที่สุด
เพื่อให้ลูกได้รับการปรับปรุงและพัฒนาในได้ต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงสามารถเข้ากับเพื่อน ๆ และสังคมได้โดยมีเคล็ดลับในการเลือกสถานศึกษาดังต่อไปนี้
- มองหาสถานศึกษาที่มีครูมีความสามารถ เข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับเด็กที่มีสมาธิสั้น ให้ความร่วมมือในแนวทางช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ไม่ปฏิเสธการดูแลในแนวทางที่ยอมรับในปัจจุบัน
- ครูที่เข้าใจปัญหาของเด็กสมาธิสั้น จะมีส่วนในการสร้างเสริมความสามารถ และการพัฒนาการได้ดีขึ้น
- เด็กที่สมาธิสั้นนั้นสามารถเรียนในโรงเรียนปกติได้ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแยกไปเรียนโรงเรียนพิเศษ แต่อาจต้องให้ครูช่วยดูต่ำแหน่งที่ลูกนั่งเรียนในพื้นที่สามารถควบคุมตนเองได้ เช่นการได้นั่งเรียนบริเวณแถวหน้าสุด ไม่ควรให้เด็กนั่งบริเวณริมหน้าต่าง หรือริมประตู
- จำนวนเด็กในห้องเรียนสำคัญมาก เพราะห้องเรียนที่มีเด็กมากจนเกินไป จะสร้างสิ่งเร้ากระตุ้นให้ตัวเด็กวอกแวกได้ง่าย ทำให้สมาธิเกี่ยวกับการเรียนมีน้อยลง
- โรงเรียนที่มีพื้นที่สนามเด็กเล่น สนามกีฬากว้าง ๆ จะช่วยให้เด็กมีโอกาสเล่น ออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาได้อย่างเต็มที่ สามารถเลือกทำกิจกรรมที่มีความหลากหลายมากขึ้น ลดการรบกวนของเด็กคนอื่น ๆ หรือก่อความวุ่นวาย
อย่างไรก็ตามการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นคนที่เด็กตัวน้อยให้ความไว้วางใจมากที่สุด ดังนั้นการทำแบบอย่างที่ดีและการคอยเอาใจใส่สอนลูก รวมไปถึงฝึกให้ลูกทำสมาธิบ้างเป็นครั้งคราว จะช่วยให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น และการได้ฝึกฝนการใช้ความคิดในกิจกรรมภายในบ้าน ก็ช่วยให้เด็กเริ่มรู้จักการวางแผนและคิดเรื่องต่าง ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งพ่อแม่อาจแบ่งเวลาบางส่วนเพื่อการทำกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัว
ในสถานที่สาธารณะ เช่น การได้ออกกำลังกายร่วมกัน หรือ การทำกิจกรรมทางสังคมร่วมกับผู้อื่นบ้าง จะทำให้เด็กรู้จักคิดและวางแผนการทำงานเป็นมากยิ่งขึ้น และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยจากพ่อแม่ก็คือความรักความเข้าใจต่อตัวเด็กนั่นเอง
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..