เมื่ออายุครรภครบ 6 เดือนช่วงนี้คุณแม่จะรู้สึกดีขึ้นกว่าช่วงไตรมาสแรก ไม่ว่าจะเป็นอาการคลื่นไส้อาเจียนก็ลดลงไปมากแล้ว ความเหม็นกลิ่นอาหารก็ลดลง ในขณะที่คุณแม่บางคนอาจมีความอยากกินอาหารมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้คุณแม่หลายรายมีปัญหาหลายๆ อย่างตามมา ดังนั้นวันนี้เราจะพาไปดูกันว่ามีอะไรบ้างที่คุณแม่ตั้งครรภ์ 6 เดือนต้องระวัง ไปดูกันเลยค่ะ
ตั้งครรภ์ 6 เดือน ต้องระวังอะไร บ้าง
สิ่งที่คุณแม่ท้อง 6 เดือนต้องระวัง ก็มีดังต่อไปนี้
1.ควบคุมน้ำหนักให้ได้ตามมาตรฐาน
คุณแม่อาจจะมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัม คุณแม่ที่มีน้ำหนักขึ้นตามปกติก็ไม่มีสิ่งใดต้องกังวล แต่หากคุณแม่ในรายที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานอยู่ก่อนแล้ว อาจมีปัญหาอื่นๆ ตามมาได้อีก เช่น อาการปวดหลังหนักมาก และความเสี่ยงเบาหวาน ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องควบคุมอาหารประเภทแป้ง รวมถึงลดอาหารประเภทไขมัน และน้ำตาลลงด้วย ควรเพิ่มผักผลไม้ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันภาวะน้ำหนักตัวเกิน
2.ปวดท้องน้อยหรือเสียดชายโครง
ตั้งครรภ์ 6 เดือน ช่วงนี้คุณแม่อาจจะรู้สึกปวดเสียบริเวณท้องน้อย โดยเฉพาะช่วงการเปลี่ยนจากท่านอนมาเป็นลุกขึ้นนั่ง ซึ่งสาเหตุเกิดจากการหดเกร็งของมดลูก ส่วนในกรณีของคุณแม่ ที่มีสภาพท้องโตมากก็อาจทำให้รู้สึกปวดบริเวณชายโครงได้ ข้อควรระวังให้เปลี่ยนอิริยาบทอย่างช้าๆ จะช่วยให้รู้สึกปวดน้อยลงได้
3.แสบร้อนกลางอก
มีอาการปวดหรือแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ และกระเพาะอาหารระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดจากการที่มดลูกได้เบียดและดันจนกระเพาะอาหารแคบลง น้ำย่อยในกระเพาะจึงมีโอกาสล้นขึ้นมาบริเวณกระเพาะอาหารส่วนต้น จนเป็นสาเหตุของอาการแสบร้อนกลางอก กรดไหลย้อน หรือกระเพาะอาหารได้
4.อาการครรภ์เป็นพิษ
อาการครรภ์เป็นพิษ จัดเป็นภาวะความเสี่ยงของคุณแม่ตั้งครรภ์ 6 เดือนเป็นอย่างมาก โดยภาวะครรภ์เป็นพิษเกิดขึ้นได้จากการที่รกฝังตัวผิดปกติ และเกาะตัวไม่ดีพอ จนส่งผลให้รกบางส่วนมีภาวะขาดออกซิเจน และขาดเลือด จนทำให้เลือดไปเลี้ยงรกได้น้อยลง เกิดการกระตุ้นให้มีการหลั่งสารที่เป็นสารพิษภายในรก เข้าสู่กระแสเลือดของคุณแม่ทีละน้อยๆ จนเป็นเหตุให้ร่างกายคุณแม่มีความผิดปกติจากภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาการเส้นเลือดสมองตีบ สายตาพร่ามัว จนขั้นรุนแรงมีอาการชัก และตับวาย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้ทั้งสองคน
อาการที่บ่งบอกว่าครรภ์เป็นพิษ
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ 6 เดือนมีภาวะครรภ์เป็นพิษเกิดขึ้น จะมีอาการที่แสดงออกทางร่างกายดังนี้
- มีอาการบวมบริเวณมือ หลังเท้า และใบหน้า
- น้ำหนักตัวคุณแม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ปวดศีรษะรุนแรง โดยไม่เคยปวดมาก่อน ถึงแม้ว่ากินยาระงับอาการปวดก็ยังไม่บรรเทา
- สังเกตุว่าลูกดิ้นน้อยลง ลูกเจริญเติบโตช้า และน้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น
- คุณแม่มีความดันโลหิตสูง
- หากได้ตรวจปัสสาวะจะพบว่ามีโปรตีนในปัสสาวะ
- มีอาการสายตาพร่ามัว
- มีอาการปวดท้องแบบเสียดแน่นบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา
คุณแม่ตั้งครรภ์ 6 เดือน ที่สงสัยว่าตนเองอาจมีความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์ที่รับฝากครรภ์ทันทีที่รู้สึกมีความผิดปกติ ตามอาการที่กล่าวมานี้ เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัย และรักษาอย่างทันท่วงที
5.ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
อาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จัดเป็นโรคที่ควรเฝ้าระวังในคุณแม่ตั้งอีกโรคหนึ่ง ซึ่งมักจะส่งผลเสียด้านสุขภาพทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้หลายประการด้วยกัน โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- คุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขณะตั้งครรภ์
- มีภาวะอ้วน น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
- มีบุคคลในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นเบาหวาน
- หากเคยมีบุตร การคลอดลูกคนแรกตัวโต และมีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม
- มีประวัติการแท้งบุตร หรือเคยคลอดทารกเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ
6.การอักเสบจากเชื้อรา
การอักเสบจากเชื้อราที่ควรเฝ้าระวังในคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงอายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไปคือ
- มีอาการคันอย่างรุนแรง หรือระคายเคืองที่ปากช่องคลอด รวมถึงมีอาการแสบร้อน ร่วมกับมีอาการตกขาวสีขุ่นร่วมด้วย ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อจากเชื้อรา ซึ่งอาศัยอยู่ในที่อับชื้นใต้ร่มผ้า
- อาการอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เนื่องจากช่วงนี้คุณแม่มีการปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น หากไม่ทำความสะอาดให้ดีอาจทำให้มีเชื้อเล็ดลอดเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ รวมถึงการอั้นปัสสาวะก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ติดเชื้อได้
7.ระวังไม่ให้ท้องผูก
อาการท้องผูกในคุณแม่ตั้งครรภ์มีได้ตลอดอายุครรภ์ โดยเฉพาะช่วงตั้งครรภ์ 6 เดือนไปแล้วมักจะพบได้ว่าคุณแม่มีอาการท้องผูกได้ง่ายขึ้น สาเหตุประการแรกคือ เกิดจากการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนโพรเจสเทอ กับอีกสาเหตุคือการขยายตัวของมดลูกจนไปเบียดพื้นที่ของลำไส้ใหญ่ จนทำให้เกิดการเคลื่อนไหวไม่สะดวก อีกทั้งลำไส้ส่วนที่ถูกมดลูกเบียดตัวเกิดการคั่งค้างของหลอดเลือดดำ จากการไหลกลับไม่สะดวกจนมีการโป่งพองบริเวณทวารหนัก ซึ่งเป็นสาเหตุให้ขับถ่ายลำบาก การแก้ปัญหาด้วยการป้องกันไม่ให้ท้องผูกจะช่วยได้มาก สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามนี้
- คุณแม่ควรกินอาหารที่มีกากใยให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ลำไส้ได้รับการกระตุ้นระบบขับถ่าย รวมถึงกินธัญพืชที่ไม่ขัดขาวเพื่อให้ได้รับเส้นใยจากเยื่อหุ้มเมล็ด ซึ่งเป็นเส้นใยชนิดดี
- ดื่มน้ำมากขึ้นกว่าปกติ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยการเดินเล่นครั้งละ 20-30 นาที 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบลำไส้
ข้อควรระวังในช่วงตั้งครรภ์ 6 เดือน ในบทความนี้ได้เขียนแจ้งไว้อย่างดีครอบคลุมเกือบครบทุกเรื่องแล้ว สำหรับคุณแม่ที่มีความสงสัยในรายละเอียดด้านอื่นๆ สามารถปรึกษากับคุณหมอที่รับฝากครรภ์ได้ตลอดเวลา
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่