คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ จะมีความสนใจในการนับอายุครรภ์มากเป็นพิเศษ เพราะเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นก็หมายถึงวันเวลาที่ลูกน้อยใกล้จะออกมาลืมตาดูโลกแล้ว ซึ่งคุณแม่หลายคนอาจจะสงสัยว่า อายุครรภ์ 30 สัปดาห์ แล้ว หากเทียบเป็นเดือนจะเท่ากับกี่เดือน ดังนั้นเราจึงจะมาบอกให้คุณแม่ได้รู้กันค่ะ
อายุครรภ์ 30 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน
เมื่อการตั้งครรภ์ของคุณแม่ได้ดำเนินมาเกินครึ่งทางแล้ว สำหรับวิธีการเช็คอายุครรภ์ก็เริ่มนับได้จากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ซึ่งใน 1 เดือน คนทั่วไปเข้าใจว่ามี 4 สัปดาห์ แท้จริงแล้วบางเดือนก็มีถึง 5 สัปดาห์ ฉะนั้นการนับอายุตั้งครรภ์มักจะนับเป็นสัปดาห์มากกว่า เพราะจะได้เห็นพัฒนาการของลูกที่มีความละเอียดมากกว่า ส่วนการนับเป็นเดือน เป็นความสะดวกของคนส่วนใหญ่ ซึ่งจะชินกับการนับและเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น สำหรับการนับ อายุครรภ์ 30 สัปดาห์ เมื่อนับเป็นเดือนจะเท่ากับ 7 เดือน แต่หากจะนับตามหลักของแพทย์นับได้ดังนี้
ช่วงไตรมาสที่ 1
- คุณแม่ตั้งครรภ์ประมาณ 1 เดือน จะเท่ากับอายุครรภ์ครบ 4 สัปดาห์
- คุณแม่ตั้งครรภ์ประมาณ 2 เดือน จะเท่ากับอายุครรภ์ครบ 8 สัปดาห์
- คุณแม่ตั้งครรภ์ประมาณ 3 เดือน จะเท่ากับอายุครรภ์ครบ 13 สัปดาห์
ช่วงไตรมาสที่ 2
- คุณแม่ตั้งครรภ์ประมาณ 4 เดือน จะเท่ากับอายุครรภ์ครบ 17 สัปดาห์
- คุณแม่ตั้งครรภ์ประมาณ 5 เดือน จะเท่ากับอายุครรภ์ครบ 21 สัปดาห์
- คุณแม่ตั้งครรภ์ประมาณ 6 เดือน จะเท่ากับอายุครรภ์ครบ 26 สัปดาห์
ช่วงไตรมาสที่ 3
- คุณแม่ตั้งท้องประมาณ 7 เดือน จะเท่ากับอายุครรภ์ 30 สัปดาห์
- คุณแม่ตั้งครรภ์ประมาณ 8 เดือน จะเท่ากับอายุครรภ์ครบ 35 สัปดาห์
- คุณแม่ตั้งครรภ์ประมาณ 9 เดือน จะเท่ากับอายุครรภ์ครบ 40 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่
เมื่ออายุครรภ์ครบ 30 สัปดาห์การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่จะเป็นอย่างไรบ้าง มาดูกันเลย
1.ปัสสาวะบ่อยขึ้น
ช่วงนี้คุณแม่จะปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากมดลูกมีขนาดโตขึ้นจึงไปเบียดกับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยมากขึ้นกว่าปกติ บางครั้งอาจจะมีปริมาณปัสสาวะไม่มาก ก็ทำให้รู้สึกปวดได้เช่นกัน เมื่อคุณแม่รู้สึกปวดปัสสาวะแล้วควรไปขับถ่ายออกทันที ไม่ควรอั้นไว้นาน จะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้
2.นอนไม่หลับ
ช่วงนี้คุณแม่จะมีอาการนอนไม่หลับเวลากลางคืน ซึ่งเป็นปัญหาที่คุณแม่ตั้งครรภ์ในระยะนี้เป็นได้บ่อย หากคุณแม่นอนไม่หลับบ่อยๆ จะเกิดผลเสียต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ คุณแม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนนอน หากรู้สาเหตุของการนอนไม่หลับ เช่น เคยดื่มกาแฟช่วงหลังเที่ยงก็ควรงดเสีย นอกจากนี้ควรจัดห้องนอนให้น่านอน หลีกเลี่ยงการดูโทรทัศน์หรือเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน ด้วย
3.ปัญหาเส้นเลือดขอดที่ขา
คุณแม่ที่มี อายุครรภ์ 30 สัปดาห์ อาจมีปัญหาเส้นเลือดขอดที่ขาได้ สาเหตุมาจากมดลูกโตขึ้นจนไปกดทับเส้นเลือดใหญ่ในอุ้งเชิงกราน จนทำให้เกิดเส้นเลือดขอดที่ขา และในคุณแม่บางรายอาจมีอาการเป็นริดสีดวงทวารด้วย โดยการยกขาสูง ๆ ก็จะทำให้ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเส้นเลือดขอดได้ คุณแม่ควรนอนพักแล้วยกขาและเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดอาการบวมและเลือดคั่งบริเวณขาได้
4.น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 30 สัปดาห์ น้ำหนักอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งคุณแม่ควรควบคุมน้ำหนักตัวเองให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ระวังอย่าให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากเกินไป จะช่วยให้การตั้งครรภ์มีความปลอดภัย ไม่มีอุปสรรคต่อการตั้งครรภ์และการคลอดลูก
การเติบโตของทารกในครรภ์
เมื่อคุณแม่ได้เช็คอายุครรภ์จนรู้อายุครรภ์แล้ว มาดูพัฒนาการของลูกน้อยในช่วงอายุครรภ์ 30 สัปดาห์ว่ามีการพัฒนาไปถึงไหนบ้างแล้ว
1.ลูกน้อยมีช่วงตัวยาวขึ้น
ลูกน้อยในครรภ์จะมีช่วงตัวยาวเกือบ 16 นิ้ว และน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม
2.ลูกน้อยมีการกลับตัวไปมา
ช่วงนี้ลูกน้อยในครรภ์มีการกลับตัวไปมาอย่างสม่ำเสมอในช่วงอายุครรภ์ 30 สัปดาห์ บางครั้งอาจจะเอาหัวลง หรือเอาก้นลงก็ได้ แต่ส่วนใหญ่เมื่อถึง 32 สัปดาห์ลูกน้อยมักจะกลับหัวลงแล้ว
3.สมองพัฒนาโดยการเพิ่มเซลล์ประสาทมากขึ้น
ลูกน้อยในช่วงที่อายุครรภ์ 30 สัปดาห์ สมองของลูกน้อยในครรภ์จะเติบโตอย่างรวดเร็ว มีจำนวนเซลล์ประสาทเพิ่มขึ้นนับแสนล้านเซลล์ ระบบประสาทเพิ่มมากขึ้น รอยหยักบนสมองมีมากขึ้นเพื่อช่วยการพัฒนาและการเรียนรู้ของลูกน้อยให้ดีขึ้น
4.การได้ยินเสียงดีขึ้น
ช่วงนี้การได้ยินเสียงของลูกน้อยจะพัฒนาได้สมบูรณ์เต็มที่ และสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากภายนอกได้ เช่น ดิ้นแรงเมื่อได้ยินเสียงดัง ดิ้นมากขึ้นเมื่อเสียงลำไส้แม่ทำงาน ยามแม่หิว หรือเมื่อหัวใจเต้นเร็ว ลูกน้อยได้ยินเสียงดนตรีที่ชอบ นอกจากนี้สมองยังมีการสร้างโยงใยการเชื่อมโยงของเส้นใยระหว่างเซลล์สมองมากขึ้น เพื่อเพิ่มเครือข่ายของสมองในการเรียนรู้ ยิ่งคุณแม่มีการกระตุ้นมากก็ยิ่งมีการสร้างโยงใยของเซลล์ประสาทมากตามไปด้วย ซึ่งมีคุณแม่หลายท่านได้ใช้วิธีการกระตุ้นเซลล์สื่อประสาทของลูกน้อยในครรภ์ ด้วยการเปิดเสียงดนตรีคลาสสิคให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในครรภ์คุณแม่
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ได้ 30 สัปดาห์ก็ย่อมจะมีความตื่นเต้น หรือบางรายอาจจะมีความกังวลใจร่วมด้วยก็ได้ แต่เมื่อได้เช็คอายุครรภ์แล้ว และมีการดูแลสุขภาพครรภ์ตามช่วงอายุครรภ์มาอย่างดีแล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดจะต้องเป็นกังวลอีก เพราะอีกไม่นานก็ถึงเวลาที่ลูกน้อยในครรภ์จะคลอดออกมาแล้วนั่นเอง
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่ www.konthong.com หรือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้ที่
https://www.facebook.com/teamkonthong/
We promise to provide the knowledge and know-how for new mom. More and more solutions about how can you grow up your baby. Feel free to contact us if any problems have occurred or have any questions you would like to know. Don’t forget to follow and keep in touch with us on Facebook
https://www.facebook.com/teamkonthong/
บทความน่ารู้ เพิ่มเติม คลิกเลย …..