คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ เมื่ออายุครรภ์ดำเนินมาถึงครึ่งทางแล้ว หากนับจำนวนสัปดาห์ของการตั้งครรภ์หลังจากประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย ก็จะมี อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ พอดี หากคุณแม่เกิดความสงสัยว่าเมื่อเทียบกับจำนวนอายุครรภ์ที่นับเป็นเดือน จะเป็นกี่เดือนกันแน่ วันนี้เราจะพาคุณแม่ไปหาคำตอบกันค่ะ
อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ต้องการเช็คอายุครรภ์ ว่าตนเองมีอายุครรภ์กี่สัปดาห์ หากคิดเป็นเดือนเท่ากับกี่ เดือน สามารถดูได้ดังนี้
คุณแม่ที่เริ่มตั้งครรภ์อ่อนๆ ไตรมาสแรก
· อายุครรภ์ 1-4 สัปดาห์ เท่ากับท้อง 1 เดือน
· อายุครรภ์ 5-8 สัปดาห์ เท่ากับท้อง 2 เดือน
· อายุครรภ์ 9-13 สัปดาห์ เท่ากับท้อง 3 เดือน
· อายุครรภ์ 14-17 สัปดาห์ เท่ากับท้อง 4 เดือน
· อายุครรภ์ 18-21 สัปดาห์ เท่ากับท้อง 5 เดือน
· อายุครรภ์ 22-26 สัปดาห์ เท่ากับท้อง 6 เดือน
· อายุครรภ์ 27-30 สัปดาห์ เท่ากับท้อง 7 เดือน
· อายุครรภ์ 31-35 สัปดาห์ เท่ากับท้อง 8 เดือน
· อายุครรภ์ 36-40 สัปดาห์ เท่ากับท้อง 9 เดือน
สำหรับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ จะมีอายุคครรภ์ที่นับเป็นเดือน เท่ากับ 5 เดือนนั่นเอง
การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่
เมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ คุณแม่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเกิดขึ้นได้ เช่น
1.อาการตัวบวม
อาการตัวบวมเล็กน้อยไม่น่ากังวลใจมากนัก เพราะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ขณะตั้งครรภ์ และจะลดลงเมื่อคลอดลูกแล้ว ในช่วงนี้ให้คุณแม่นอนยกเท้าสูงไว้ สามารถทำได้ทุกเวลาที่ว่าง
2.หายใจไม่อิ่ม
อาการนี้จะเกิดขึ้นได้เนื่องจากมดลูกขยายตัวไปดันปอด ทำให้คุณแม่รู้สึกหายใจไม่อิ่ม แต่หากคุณแม่มีลูกแฝดอาจพบว่าอาการนี้ชัดเจนมากขึ้น โดยคุณแม่จะต้องพยายามไม่เครียด และทำตัวให้ผ่อนคลายที่สุด
3.แสบกลางอก
อาการแสบกลางอก หรืออาหารไม่ย่อยที่เกิดกับคุณแม่ ส่วนใหญ่จะเกิดจากสาเหตุที่มดลูกเริ่มโตขึ้น จนรบกวนระบบการย่อยอาหารของคุณแม่ได้ ช่วงนี้ให้คุณแม่ระมัดระวังอาหารที่กินในแต่ละวัน ควรจะงดของที่มีรสเปรี้ยว หรือมีฤทธิ์เป็นกรดเพราะอาจทำให้คุณแม่ไม่สบายท้องมีอาการแสบท้องได้นั่นเอง
4.เป็นตะคริว
อาการเป็นตะคริวสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์สามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะหลังตื่นนอนตอนเช้า ให้คุณแม่พยายามยืดเหยียดขาให้ตึง แต่ให้ค่อยๆ เหยียดแบบช้าๆ เป็นประจำ นอกจากนี้คุณแม่ควรดื่มน้ำมากๆ และกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงเพิ่มขึ้นจะช่วยป้องกันไม่ให้ขาเป็นตะคริวได้
5.อาการตกขาว
สำหรับคุณแม่ที่มีอาการตกขาว ในขณะตั้งครรภ์จะมีอาการไปจนกว่าจะคลอด เพราะเป็นผลโดยตรงจากการที่ฮอร์โมนเพิ่มระดับขึ้นสูง แต่หากคุณแม่มีอาการตกขาวมีสีเหลือง เขียว หรือมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย คุณแม่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อจะได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
การเติบโตของทารกในครรภ์
สำหรับการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ช่วงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ จะมีการพัฒนาไปถึงขั้นไหนแล้วบ้างมาดูกันเลย
1.เริ่มสร้างปุ่มฟันน้ำนม
ในช่วง 20 สัปดาห์ ภายในช่องปากของลูกน้อยจะเริ่มมีการสร้างปุ่มฟันน้ำนม ซึ่งจะเจริญอยู่ภายใต้เหงือก แล้วจะโผล่พ้นเหงือกขึ้นมาเมื่อลูกน้อยคลอดออกมาและมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป
2.พัฒนาการกลืน
เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์แล้ว ลูกน้อยในครรภ์จะมีการพัฒนาการในการกลืนได้มากขึ้นทุกวัน ซึ่งเป็นการฝึกการทำงานของระบบทางเดินอาหาร และเริ่มมีการขับถ่ายเป็นครั้งแรกในช่วงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์นี้ ซึ่งสิ่งขับถ่ายของลูกน้อยในครรภ์จะประกอบด้วยเซลล์ของผนังลำไส้ที่หลุดลอกตายไป รวมกับน้ำย่อย และน้ำคร่ำต่างๆ ที่ลูกน้อยได้กลืนลงไปในท้อง
3.ลำตัวยาวประมาณ 6 นิ้ว
พัฒนาการของทารกในช่วงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ลูกน้อยในครรภ์จะมีลำตัวยาวประมาณ 6 นิ้ว หนักประมาณ 290 กรัม เทียบได้กับผลมะเขือยาวหรือมะละกอ 1 ผลเล็ก ช่วงนี้ลูกน้อยจะเริ่มมีผมอ่อนขึ้นมาบ้างแล้ว แต่เปลือกตายังคงปิดอยู่ และสามารถรับรู้ถึงแสงที่คุณแม่ส่องไฟเล่นกับลูกได้ นอกจากนี้ลูกน้อยจะเริ่มดิ้น ยืดตัว พลิกตัวหมุนไปมาในท้องแม่จนคุณแม่รู้สึกได้
4.เซลล์ประสาทภายในสมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ช่วงนี้เซลล์ประสาทภายในสมองของลูกน้อย กำลังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเซลล์ประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ รวมทั้งระบบประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น ปุ่มรับรส ซึ่งสามารถแยกรสหวานและขมได้
5.ผิวหนังทั่วตัวเริ่มหนาขึ้นและแบ่งเป็นสองชั้น
ช่วงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ลูกน้อยเริ่มมีการสร้างไขมันสีขาวๆ ขึ้นมาปกคลุมผิวด้านนอก ซึ่งจะช่วยลดการเสียดสีบริเวณผิวหนังของลูกขณะดิ้นเคลื่อนไหวไปมาภายในท้องของแม่นั่นเอง
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์แล้ว ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายก็ได้เกิดขึ้นหลายอย่างด้วยกัน แต่การพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ ก็ได้พัฒนามากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะออกมาสู่โลกภายนอกอย่างสมบูรณ์แข็งแรงเหมาะสมแก่การรอคอย คุณแม่ที่ต้องการจะเช็คอายุครรภ์ก็สามารถเช็คได้ในบทความนี้กันเลย
= = = = = = = = = = = =
ติดตามความรู้ดี ๆ และสาระดี ๆ เพิ่มเติม สำหรับแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อย ได้ที่